สาระน่ารู้


สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 31 มกราคม 2566


วันนี้ (31 มกราคม 2566)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                   1.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา  พ.ศ. 2510
                   2.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้  เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
                   3.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. ....
                   4.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการ ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
 

เศรษฐกิจ-สังคม

                   5.       เรื่อง     การสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติราชการ
                   6.       เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราช กำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566
                   7.       เรื่อง     โครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสาร ประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
                   8.       เรื่อง     ขอความเห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทยปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตรา เงินเดือนค่าจ้างของพนักงานโดยการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของ พนักงาน ตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ระบบ 53 ขั้น
                   9.       เรื่อง     ขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
                   10.      เรื่อง     ขออนุมัติโครงการให้บริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กร ของบริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
                   11.      เรื่อง     (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570
                   12.      เรื่อง     ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์  เพื่อทำเหมืองแร่ ของบริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ที่จังหวัดชัยนาท
                   13.      เรื่อง     รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่  19 ธันวาคม 2565
                   14.      เรื่อง     ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565
                   15.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.)  ครั้งที่ 2/2565
                   16.      เรื่อง     แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 - 2570)
                   17.      เรื่อง     การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ 17 สาขา
 

ต่างประเทศ

                        18.      เรื่อง     ร่างเอกสารที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 26 และ                                       การประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                   19.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย                                         อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
                   20.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 14  และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
                   21.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับสูงในห้วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2565
                   22.      เรื่อง     การขยายอายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น
                   23.      เรื่อง     ร่างเอกสารที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                   24.      เรื่อง     ขออนุมัติเป็นหลักการให้จ่ายเงินสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA)
 

แต่งตั้ง

                   25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   26.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
                   27.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุง และเมืองเก่า
                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)       
                   29.      เรื่อง     การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และ กรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
 
___________________________________
  

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ สธ. เสนอ เป็นการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ดังนี้ (1) ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรายการพิสูจน์หรือวิเคราะห์ยาตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน (2) แก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต จากเดิมที่กำหนดให้จัดเก็บเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น เป็นจัดเก็บเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น (3) เพิ่มรายการค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยมีอัตราเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาประเภทนั้น เพื่อให้การกำหนดรายการเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมสอดคล้องกับพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้บัญญัติให้มีการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุและการต่ออายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมทั้งเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (4) แก้ไขรายการค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยาแผนโบราณให้หมายความถึงเฉพาะยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ      อันส่งผลให้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มีผลใช้บังคับเฉพาะกับยาแผนโบราณสำหรับสัตว์
                   สธ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 (เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ) โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ สธ. เห็นว่าการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตลงกึ่งหนึ่งตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 21,519,300 บาทต่อปี อย่างไรก็ตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวก็ได้กำหนดเพิ่มรายการค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งจะจัดเก็บได้จากการต่ออายุใบสำคัญทุกเจ็ดปี โดยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 16,612,500 บาท ทุก ๆ เจ็ดปี นอกจากนี้ การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังเป็นมาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการที่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ดังนี้

กฎกระทรวงเดิม การปรับปรุงตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้
รายการ อัตราค่าธรรมเนียม (ฉบับละ)
(ก) ประเภทยาแผนปัจจุบัน
   (1) ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน
   (2) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน
   (3) ใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบัน
   (4) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาควบคุมอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
  (5) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์
  (6) ใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร
  (7) การพิสูจน์หรือวิเคราะห์ตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน
  (8) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน
  (9) ใบแทนใบอนุญาต
  (10) ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน 
(ข) ประเภทยาแผนโบราณ
   (1) ใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณ
   (2) ใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ
   (3) ใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนโบราณเข้ามาในราชอาณาจักร
  
   (4) การพิสูจน์หรือวิเคราะห์ยาตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน
 
  (5) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ
   (6) ใบแทนใบอนุญาต
   (7) ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ
 
(ค) การต่ออายุใบอนุญาต
 
 
 
-  ไม่มี -
 
 
8,000 บาท
2,000 บาท
1,500 บาท
1,000 บาท
 
 
1,000 บาท
 
10,000 บาท
 
1,000 บาท
 
2,000 บาท
 
100 บาท
100 บาท
 
 
1,000 บาท
300 บาท
5,000 บาท
 
 
500 บาท
 
 
500 บาท
 
100 บาท
100 บาท
 
 
เท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น
 
รายการและอัตราคงเดิม
รายการและอัตราคงเดิม
รายการและอัตราคงเดิม
รายการและอัตราคงเดิม
 
 
รายการและอัตราคงเดิม
 
รายการและอัตราคงเดิม
 
ยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562
รายการและอัตราคงเดิม
 
รายการและอัตราคงเดิม
รายการและอัตราคงเดิม
 
แก้ไขรายการ เป็น
“ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์
โดยอัตราคงเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
 
ยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562
แก้ไขรายการ เป็น
“ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์
โดยอัตราคงเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
 
 
แก้ไขอัตรา เป็น “เท่ากับกึ่งหนึ่ง” ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น
เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562
เพิ่มรายการ “การต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา” โดยมีอัตรา “เท่ากับกึ่งหนึ่ง” ของค่าธรรมเนียมใบสำคัญนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
                   1. สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เป็นโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจรของประชาชนในพื้นที่บริเวณธนบุรีฝั่งใต้ และประชาชนทั่วไปในการเดินทางเข้า-ออก สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพมหานคร เป็น “มหานครสีเขียว” ที่ร่มรื่นน่าอยู่น่าเยือน ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน ระหว่างซอยเอกชัย 101 กับถนนพระรามที่ 2 ซอย 82 ริมคลองบางบอน มีพื้นที่ขนาด 100 ไร่  
                   2. ลักษณะของโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณปากซอยเอกชัย 101 เดิมเป็นถนนลาดยาง กว้างประมาณ 5 เมตร ขนาด 2 ช่องทางจราจร 2 ทิศทาง จะขยายเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเขตทาง  กว้าง 20 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ระยะทางยาวประมาณ 470 เมตร พร้อมท่อระบายน้ำ บ่อพัก ทางเท้าทั้งสองฝั่ง ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นอกจากนั้น จะมีการปรับปรุงสะพานข้ามคลองบางบอน ซึ่งอยู่ติดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ โดยปรับปรุงเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างประมาณ 16 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 75 เมตร เพื่อประชาชนสามารถนำรถยนต์ข้ามคลองไปสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ได้โดยสะดวกและเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ 
                   3. กทม. จึงมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินและเข้าสำรวจเพื่อให้ทราบถึงที่ดินที่ต้องได้มาโดยแน่ชัดในพื้นที่ของโครงการดังกล่าว เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 อันเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจและเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ  จะช่วยระบายการจราจรในพื้นที่บริเวณธนบุรีฝั่งใต้ และทำให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ข้ามคลองไปสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ได้โดยสะดวก 
                   4. กทม. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยจัดให้มีกิจกรรมและการสัมมนารับฟังความคิดเห็น การประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน และตอบแบบสอบถาม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ 
                   5. สำนักงบประมาณ แจ้งว่า กทม. มีแผนการจัดการกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน นับแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2567 และประมาณการจัดการค่ากรรมสิทธิ์จำนวน 14,284,000 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม.
                   6. มท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2665) [เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] แล้ว โดยกรมการปกครองแจ้งว่าไม่ได้รับผิดชอบเขตการปกครองในเขตพื้นที่ กทม. จึงไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตการปกครองที่ปรากฏในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ได้ ทั้งนี้ กทม. ได้ตรวจสอบความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองแล้ว 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 
                   กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปีโดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย        แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เป็นการกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน         โดยผู้เสียหายไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืน รวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม มีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 ซึ่งปัจจุบันสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2559 ซึ่งได้กำหนดการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเห็นชอบด้วยแล้ว 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   กำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน สรุปได้ดังนี้ 
                   1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐาน และไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น คำว่า “ทายาท” หมายความว่า ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้เสียหาย หรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคำว่า “คำร้อง” หมายความว่า คำร้องเพื่อขอรับคืน หรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 
                   2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นคำร้อง ดังนี้
                             (1) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน และคณะกรรมการธุรกรรม1 หรือเลขาธิการ ปปง. ได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 48 หรือกรณีไม่มีการออกคำสั่งดังกล่าวและคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 49 แล้วแต่กรณี ให้สำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องตามแบบที่เลขาธิการ ปปง. กำหนด ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วันนับแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา 
                             (2) ในการยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระบุข้อความให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมทั้งแนบหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน อาทิ สำเนาคำพิพากษาให้ได้รับคืนทรัพย์สินหรือได้รับชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์ และสำเนาหลักฐานการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน โดยสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเอง หรือยื่นทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่น ตามที่เลขาธิการ ปปง. ประกาศกำหนด 
                             (3) กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถยื่นคำร้องหรือดำเนินการอื่นใดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้แทนผู้เสียหายได้เฉพาะกรณี ได้แก่ 1) ผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เยาว์ที่สามารถเข้าใจสาระสำคัญแห่งการกระทำของตนที่จะดำเนินการด้วยตนเอง 2) ผู้อนุบาล กรณีผู้เสียหายเป็นคนไร้ความสามารถ 3) ทายาท กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย และ 4) บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย 
                   3. กำหนดวิธีการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหาย ดังนี้ 
                             (1) กรณีที่ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นยื่นคำร้องด้วยตนเองเกินระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เว้นแต่กรณียื่นคำร้องทางไปรษณีย์          ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบ 
                             (2) ในกรณีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหาย สำหรับความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานความผิดมูลฐานนั้นจากหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือถึงหน่วยงานดังกล่าว เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหาย และเมื่อได้รับข้อเท็จจริงเบื้องต้นครบถ้วนแล้ว ให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณามีมติให้ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 49/1 
                             (3) เมื่อได้รับคำร้องแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องว่ามีรายการไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน และแจ้งให้ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและส่งเอกสาร หรือหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อได้รับคำร้องถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายโดยเร็ว และจัดทำรายงานพร้อมความเห็นต่อเลขาธิการ ปปง.      เพื่อให้ความเห็นชอบในการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาต่อไป 
                             (4) เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรา 49/1 แล้ว  ให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปโดยเร็ว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมและสิทธิในการขอให้ทบทวนมติให้แก่ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ 
                             (5) ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการธุรกรรม ให้มีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาทบทวนได้ โดยจัดทำเป็นหนังสือระบุข้อโต้แย้งและเหตุผลพร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อเลขาธิการ ปปง. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติดังกล่าว 
                   4. กำหนดให้เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลโดยเร็ว โดยให้นำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควร และนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือการจำหน่ายโดยวิธีอื่นไปชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหาย 
_______________________  
1 คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สั่งยับยั้งการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน รวมถึงสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
 
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้       พณ. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ที่ พณ. เสนอ เป็นการปรับปรุงมาตรการควบคุมการส่งออกทรายและยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ จากเดิมที่กำหนดให้ทรายธรรมชาติทุกชนิดที่มีซิลิกาออกไซต์เกินกว่า ร้อยละ 75 เป็นสินค้าห้ามส่งออก เป็นกำหนดให้ทรายตามพิกัดศุลกากรประเภท 25.05 (ไม่ได้กำหนดค่าซิลิกาออกไซต์ไว้) เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ทรายธรรมชาติทุกชนิด จะแต่งสีหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นทรายที่มีโลหะปน) ได้แก่ 1) ทรายซิลิกาและทรายควอร์ตซ์ และ 2) ทรายอื่น ๆ โดยมีข้อยกเว้นกรณีส่งออกเป็นตัวอย่างหรือศึกษาวิจัย หรือกรณีนำติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัวในปริมาณไม่เกิน     2 กิโลกรัม หรือกรณีที่ยานพาหนะนำออกไปเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น ๆ ให้ปริมาณเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (เช่น เอาไว้ถ่วงสมดุลเรือ และการป้องกันอัคคีภัยในเรือ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974) เนื่องจากทรายเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ควรสงวนไว้ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยการดูดทรายไปขายต่างประเทศอย่างเสรีอาจทำให้ตลิ่งริมแม่น้ำพังทลาย การส่งออกทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไปต่างประเทศอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศได้และอาจทำให้ต้นทุนการก่อสร้างในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นด้วยแล้ว โดยผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   1. ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 69) พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 87) พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 24 กันยายน 2541
                   2. กำหนดให้ทรายตามพิกัดศุลกากรประเภท 25.05 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ทรายธรรมชาติทุกชนิด จะแต่งสีหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นทรายที่มีโลหะปน) ได้แก่
                             1) ทรายซิลิกาและทรายควอร์ตซ์2 และ
                             2) ทรายอื่น ๆ
                   3. ยกเว้นเป็นการส่งออกทรายในกรณีดังนี้
                             1) เป็นตัวอย่างหรือศึกษาวิจัย หรือกรณีนำติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัวในปริมาณไม่เกิน 2 กิโลกรัม หรือ
                             2) กรณีที่ยานพาหนะนำออกไปเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้น ๆ ให้ปริมาณเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (เช่น เอาไว้ถ่วงสมดุลเรือ และการป้องกันอัคคีภัยในเรือ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974)
                   4. ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
_____________________________________
1 ทรายซิลิกาหรือทรายแก้ว (silica sand) คือ เป็นทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และพบมากบริเวณ หาดทราย ชายทะเล        ใช้สำหรับในงานอุตสาหกรรมแก้ว กระจก เซรามิก
2 เป็นทรายซิลิกาที่มีคุณภาพสูง ทนความร้อนได้สูง มีความแข็งแรงใช้ในงานอุตสาหกรรมทนไฟ กรองน้ำ ทำพื้นทนแรงกระแทกได้ดี ใช้ผสมกับเรซิ่น-อีพ็อกซี่ เพื่อเสริมความแข็งแรง
 
 

เศรษฐกิจ-สังคม

5. เรื่อง การสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบในหลักการการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (Law of Efficiency)
                   2. มอบหมายให้ ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย โดยปรึกษาหารือกับคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (Law of Efficiency) เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบันมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น (1) มีกฎหมายและระเบียบที่วางหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก (2) บทบัญญัติของกฎหมายบางฉบับมีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับเฉพาะเรื่องและจำกัดเฉพาะบางหน่วยงาน ซึ่งไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กล้าตัดสินใจเท่าที่ควร เนื่องจากเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน      ดังนั้น ยธ. จึงได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือและรับฟังความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2565 โดยหน่วยงานส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการและมีความเห็นซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น ความซ้ำซ้อนของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานขั้นต่ำในการพิจารณากันบุคคลเป็นพยาน ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความชัดเจนในการตีความเกี่ยวกับการกระทำสุจริตและเกิดความเสียหาย เป็นต้น ซึ่ง ยธ.   ได้พิจารณาความเห็นของหน่วยงานประกอบกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่ใช้บังคับในปัจจุบันและแนวทางของกฎหมายต่างประเทศแล้วเห็นควรดำเนินการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายกลางเพื่อเป็นการวางมาตรฐานในการคุ้มครองการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความกล้าตัดสินใจในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของราชการและการให้บริการสาธารณะ (Law of Efficiency) โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
                   1. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานโดยหน่วยงานของรัฐ   รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะหรือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น            ผู้ควบคุมหรือผู้ให้บริการในยานพาหนะที่ทำการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น และบุคคลอื่นซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวได้รับความคุ้มกันไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ในกรณีที่ได้กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบภายใต้เงื่อนไขว่าการกระทำผิดนั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชน หรือเกิดความเสียหายเล็กน้อยแต่ผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมีความคุ้มค่า      เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ราชการหรือประชาชนได้รับ
                   2. กำหนดกลไกในการให้ความช่วยเหลือค่าทนายความ ค่าที่ปรึกษา หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย    ในสาธารณะ
                   3. กำหนดให้มีกลไกในการให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
                   4. กำหนดมาตรการป้องกันการอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายโดยมิชอบ
                   5. กำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์การฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่
 
6. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม        พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ดังนี้
                   1.  อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ กรณีโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ (โครงการจัดหายาฯ) โดยให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาต้านไวรัส Favipiravir/Molnupiravir และยา Remdesivir เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการซื้อยา Molnupiravir เป็นหลัก ภายใต้กรอบจำนวนที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อสำรองไว้สำหรับรองรับการเปิดประเทศและยามฉุกเฉินในอนาคต รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ จากเดือนธันวาคม 2565 เป็นเดือนมีนาคม 2566 พร้อมทั้งรับข้อสังเกตของ คกง. ไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด
                   2. อนุมัติให้กรมควบคุมโรค สธ. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ      กรณีโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย จำนวน 60,000,000 โดส (AztraZeneca) ปี 2565 (โครงการจัดหาวัคซีนฯ) โดยขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ จากเดือนธันวาคม 2565 เป็นเดือนกันยายน 2566 พร้อมทั้งรับข้อสังเกตของ คกง. ไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด
                   3. อนุมัติให้ สป.สธ. สธ. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ กรณีโครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เพื่อขยายการรองรับการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ (โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการฯ) โดยขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ จากเดือนธันวาคม 2565 เป็นเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมทั้งรับข้อสังเกตของ คกง. ไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด
                   4. เห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เรื่องผลการประชุม คกง. ในคราวประชุม ครั้งที่ 30/2565 โดยขอแก้ไขชื่อโครงการ จากโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในประเทศไทย เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 - 3 และการผลิตเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน (โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3) เป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในประเทศไทย   เพื่อทำการทดสอบทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง (โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นสองสำหรับสายพันธุ์ใหม่)
 
7. เรื่อง โครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ)      ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (โครงการฯ) เพื่อการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ โดยถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิส และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ลงนามในหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ทส. รายงานว่า
                   1. การดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำมาต่อยอดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุ NDC ของไทย อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
                   2. บริษัท South Pole ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาพันธรัฐสวิสให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านการใช้รถโดยสารประจำทางสาธารณะเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะไฟฟ้าสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและผลประโยชน์ร่วมต่าง ๆ เช่น การลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้ร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนารายละเอียดการดำเนินงาน (Mitigation Activity Design Document: MADD) โครงการฯ ซึ่ง สผ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กรมการขนส่งทางบก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท South Pole มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ รวม 2 ครั้ง และเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย
                   3. โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชนซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ต่อคันต่อปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ค.ศ. 2021 - 2030) และสามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรื่อนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) หลังจากได้รับการรับรองว่าสอดคล้องกับข้อตกลงฯ และข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส
                   4.  ในการดำเนินโครงการดังกล่าว บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส โดย ทส. ยืนยันว่า คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย NCD
                   5. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ ทส. โดย สผ. นำรายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบการอนุญาตถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิสต่อไป และมอบหมายให้เลขาธิการ สผ. ลงนามในหนังสือการอนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ
 
                   6. หนังสือการอนุญาตมีสาระสำคัญ ดังนี้

หัวข้อ สาระสำคัญ
1. บุคคลที่ได้รับอนุญาต บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารโครงการ คาร์บอน จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)         ได้รับอนุญาตให้ยื่นคำขอถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศโดยเป็นไปตามหนังสือการให้อนุญาตฉบับนี้
2. ระยะเวลาคิดเครดิตที่ได้รับอนุญาต 6 ตุลาคม 2565 (ค.ศ. 2022) - 31 ธันวาคม 2573 (ค.ศ. 2030)
3. การใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับอนุญาต ใช้สำหรับ NDC ของสมาพันธสวิส
4. ปริมาณและรายละเอียดของผลการลดก๊าซเรือนกระจก ปริมาณรวมสูงสุดทั้งสิ้นจำนวน 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ผลการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวต้องได้รับการรับรองและติดตาม โดยระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยซึ่งบริหารจัดการโดย อบก.
5. หลักเกณฑ์และข้อกำหนดเกี่ยวข้อง 5.1 ผลใช้บังคับของการให้อนุญาตนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการรับรองหน่วยผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทย
5.2 การดำเนินงานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกต้องสอดคล้องกับแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่เห็นชอบ โดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ข้อกำหนดภายใต้ข้อตกลงการดำเนินงาน และมาตรฐานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องของ อบก.
5.3 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเข้าใจว่ารัฐบาลไทยไม่มีความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมายปริมาณที่กำหนดไว้ของการส่งมอบผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุไว้
6. วิธีการปรับบัญชี ประเทศไทยสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปรับบัญชีซึ่งจะปรับใช้                     โดยสอดคล้องกันตลอดระยะเวลา NDC โดยพิจารณาถึงแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับบัญชี
7. การกำหนดการถ่ายโอนครั้งแรก การถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกจากระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยไปยังระบบทะเบียนที่กำหนดของสมาพันธรัฐสวิสโดยใช้วิธีการ “ยกเลิกและสร้างขึ้นใหม่”

                   7. กรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส      ส่งหนังสือยืนยันรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และสำเนาหนังสือถึง สผ. พร้อมแจ้งว่า สมาพันธรัฐสวิส สามารถออกหนังสืออนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อฝ่ายไทยได้ออกหนังสือการอนุญาตด้วยแล้ว
                   8. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีหนังสือแจ้งไม่ขัดข้องต่อ (ร่าง) หนังสือการอนุญาต และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 9 และข้อ 12.3 ของแนวทางฯ สผ. ควรพิจารณาเสนอร่างหนังสือการอนุญาตฯ พร้อมกับโครงการที่จะอนุญาตให้มีการถ่ายโอนระหว่างประเทศและการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อตกลงฯ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
8. เรื่อง ขอความเห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทยปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานโดยการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ระบบ 53 ขั้น
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) โดยการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ดังนี้

ระดับ อัตราเดิม (บาท) อัตราใหม่ที่ขอปรับ (บาท)
ระดับ 10
(ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า)
91,820
(ขั้นที่ 41.5)
115,770
(ขั้นที่ 47)
ระดับ 11
(รองผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า)
95,810
(ขั้นที่ 42.5)
120,270
(ขั้นที่ 48)
ระดับ 12
(ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า
104,310
(ขั้นที่ 44.5)
129,270
(ขั้นที่ 50)
ระดับ 13
(รองผู้ว่าการ ยสท.)
113,520
(ขั้นที่ 46.5)
138,270
(ขั้นที่ 52)

หมายเหตุ : การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างของพนักงานระดับ 1 – 9 เป็นอำนาจของคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ ยสท.) เนื่องจากอัตราที่ปรับไม่สูงกว่าอัตราขั้นสูง (113,520 บาท) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558)
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการ ยสท. พิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงอัตราเงินเดือนของพนักงาน ยสท. ในแต่ละตำแหน่งภายใต้กรอบอัตราค่าจ้างที่ได้ปรับปรุงในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้มีความสอดคล้องกับผลประกอบการและสถานะทางการเงินของ ยสท. เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินขององค์กรและไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต รวมทั้งจัดทำแผนการหารายได้และแผนการบริหารความเสี่ยงทางการเงินจากการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงาน ยสท. ที่ชัดเจน โดยให้มีการประเมินผลการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงการคลังเสนอขอความเห็นชอบการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ยสท. ทุกระดับ 5.5 ขั้น ทำให้อัตราเงินเดือนสูงสุดของ ยสท. เพิ่มขึ้นจากเดิม 113,520 บาท (ขั้นที่ 46.5) เป็น 138,270 บาท (ขั้นที่ 52) และทำให้อัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ยสท. ระดับ 10 – 13 สูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (113,520 บาท) ซึ่งต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ส่วนการปรับปรุงอัตราค่าจ้างของพนักงาน ยสท. ที่ไม่เกิน 113,520 บาท (พนักงานระดับ 9 ลงมา) เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ยสท. โดยการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของ ยสท. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ค่าตอบแทนของ ยสท. สอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นและเพื่อเป็นการสร้างชวัญและกำลังใจของพนักงาน รวมถึงสามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่ปฏิบัติงานกับ ยสท. และสามารถแข่งขันกับตลาดแรงงานได้ ซึ่ง ยสท. ได้จัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจและสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่      7 มีนาคม 2560 แล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าว ยสท. จะใช้เงินรายได้จากการดำเนินธุรกิจ ของ ยสท. ทั้งหมด
 
9. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (โครงการฯ) จากเดิม สิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็น สิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามปริมาณงานที่ยังเหลือ และตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอคณะรัฐมตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (โครงการฯ) จากเดิม สิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 เป็น สิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว รักษาสภาพแวดล้อมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพยิ่งขึ้น และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้พื้นที่ 1 ล้านไร่ ในปี 2564 โดยให้ กษ. (กรมการข้าว) สนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนด ไม่เกินรายละ 15 ไร่ เพื่อชดเชยรายได้จากการผลิตข้าวที่ได้ผลผลิตลดลงในระยะเริ่มต้นของการผลิตระบบอินทรีย์ แบ่งการจ่ายเงินเป็น 3 ระยะ ต่อเนื่อง 3 ปี ได้แก่ (1) ระยะเตรียมความพร้อม (T1) สนับสนุนเงินอุดหนุนไร่ละ 2,000 บาท (2) ระยะปรับเปลี่ยน (T2) สนับสนุนเงินอุดหนุนไร่ละ 3,000 บาท และ (3) ระยะการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) (T3) สนับสนุนเงินอุดหนุนไร่ละ 4,000 บาท
                   2. โครงการฯ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 แต่เนื่องจากการผลิตข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ของทุกปี1 การตรวจประเมินที่เกี่ยวข้อง (เช่น การตรวจกระบวนการผลิต การตรวจสิทธิเกษตรกร และตรวจปประเมินเพื่ออนุมัติเงินอุดหนุน) จึงแล้วเสร็จข้ามปีงบประมาณ ประกอบกับ กษ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการว่า ในการตรวจประเมินจริงต้องใช้ระยะเวลามากกว่าแผนที่วางไว้เนื่องจากปัญหาหลายประการ เช่น เกษตรกรเสียชีวิตระหว่างโครงการฯ หรือมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ร่วมโครงการฯ ตลอดจนข้อจำกัดของกรมการข้าว เช่น การขาดแคลนบุคลากรในการดำเนินการ หรือการได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีไม่เพียงพอ เป็นต้น ด้วยเหตุเหล่านี้จึงต้องขอคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายระยะเวลาโครงการฯ     และขออนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินและมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน สำหรับข้อเสนอในครั้งนี้ เป็นการขอขยายระยะเวลาโครงการฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินและมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนในปี 2564 โดย กษ. มีแผนจะใช้งบประมาณปี 2566 ในการอุดหนุน (เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวคือเกษตรขั้น T3 ในปี 2564 ที่เข้าร่วมโครงการฯ ขั้น T1 ในปี 2562) ทั้งนี้ เนื่องจากกรมการข้าวได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ไม่เพียงพอ (ได้รับการจัดสรร 450 ล้านบาท ยังขาดอีก 1,044.44 ล้านบาท) จึงจะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในช่วงไตรมาส 3 ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่การประเมินเพื่ออนุมัติเงินอุดหนุนเสร็จสิ้น     (กษ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการว่า ปัจจุบันกรมการข้าวอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจประเมินผลผลิตและสิทธิของเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566)
_______________________
1 ช่วงเวลาการปลูกข้าวในประเทศไทยจะมี 2 ช่วง คือ ช่วงนาปี หรือการปลูกข้าวในฤดูฝน (เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม) และช่วงนาปรัง หรือการปลูกข้าวนอกฤดูฝน (เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป) ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 120 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
 
10. เรื่อง ขออนุมัติโครงการให้บริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กร ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
                   1. อนุมัติในหลักการโครงการให้บริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กรของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (โครงการฯ) กรอบวงเงินลงทุน จำนวน 4,964.30 ล้านบาท และรับทราบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรอบวงเงิน จำนวน 1,741.30 ล้านบาท และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) โดยเคร่งครัด
                   2. มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดศ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้งานจากเทคโนโลยี 5G ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยอาจจะเริ่มต้นจากเมืองที่มีความพร้อมของบุคลากรและมีความสามารถในการลงทุนและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะได้อย่างแท้จริง
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz จำนวน 48 ใบอนุญาตโดยคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz แต่มีการประมูลออก 26 ใบอนุญาต และ บมจ. ทีโอที ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 GHz จำนวน 4 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1,795 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและการดำเนินการก่อนการรับใบอนุญาตของผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่เต็มจำนวน โดยเมื่อวันที่       30 ตุลาคม 2563 บมจ. ทีโอที นำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 1,920.65 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มชำระให้แก่สำนักงาน กสทช. และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม เลขที่ FREQ/TEL/005        (26 GHz) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 (หมดอายุวันที่ 22 พฤศจิกายน 2578)
                   2. ภายหลังจากที่ชนะการประมูล บมจ. โทรคมนาคมฯ ประสงค์จะดำเนินโครงการฯ   เพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการบนย่านความถี่ 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช. เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนับสนุนนโยบายและการให้บริการสาธารณะ การให้บริการบรอดแบนด์ไร้สาย และตอบสนองความต้องการในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อภาคธุรกิจด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข     และสังคมโดยรวมของประเทศ โดยมีสาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
                             2.1 สาระสำคัญของโครงการฯ

หัวข้อ สาระสำคัญ
2.1.1 วัตถุประสงค์ ใช้ประโยชน์คุณสมบัติคลื่นความถี่ 5Gด้านความสามารถและความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพื่อการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่เมืองและพื้นที่ห่างไกล ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และสร้างผลดีเชิงเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทย
2.1.2 กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 438 ราย ภายในปีที่ 6
(1) กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 11 ราย
(2) กลุ่มโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย
(3) กลุ่มสถาบันการศึกษา จำนวน 30 ราย
(4) กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC จำนวน 350 ราย
2.1.3 เป้าหมายการให้บริการ (1) ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access: FWA) สำหรับลูกค้าภาคครัวเรือนและภาครัฐในพื้นที่เมือง พื้นที่นอกเมือง    และพื้นที่ห่างไกล ในระดับราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงการใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
(2) ให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) อาทิ ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง และท่าอากาศยาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
(3) ให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ             เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์
2.1.4 รูปแบบธุรกิจ เน้นการให้บริการ 5G ในลักษณะโครงข่ายเฉพาะองค์กร (Private 5G Network) ซึ่งในการออกแบบโครงข่ายโทรคมนาคมเทคโนโลยี 5G จำเป็นต้องระบุความต้องการใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ครอบคลุมปริมาณความต้องการใช้งาน เพื่อที่สามารถให้บริการเชื่อมต่อตามความต้องการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น บมจ. โทรคมนาคมฯ จะลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นราย ๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและมีลูกค้าเป็นที่แน่นอนและมีแนวทางการดำเนินการงาน ดังนี้
(1) ลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลัก (Core Network) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายสัญญาณให้เป็นวงกว้างและมีเสถียรภาพ โดยมีจำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ชุมสายพระโขนงและชุมสายกรุงเกษม
(2) ลงทุนพัฒนาสถานีฐานเทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายสัญญาให้เป็นวงกว้างและสนับสนุนการเข้าถึงของกลุ่มลูกค้า โดยจะพิจารณากำหนดพื้นที่ก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมจากความเหมาะสมเชิงกายภาพและจำนวนผู้ใช้งาน ทั้งนี้ บมจ. โทรคมนาคมฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ
(3) ให้บริการ Business solution เช่น Application สำหรับ Smart Government และ Smart Healthcare ทั้งนี้ บมจ. โทรคมนาคมฯ อาจเป็นผู้ดำเนินการเองหรือร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินการ
ทั้งนี้ บมจ. โทรคมนาคมฯ คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่จำนวนลูกค้าคงที่ประมาณ 438 ราย ภายในปีที่ 6 สอดคล้องกับการลงทุนจำนวนสถานีฐานที่จะเพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่จำนวนสถานีฐานคงที่ในปีที่ 4 และในปีที่ 6 จะมีการ Upgrade Core Network เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้โครงข่าย 5G สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นทุกปีจะมีงบประมาณที่ต้องใช้ในการบำรุงรักษาเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพ
2.1.5 ระยะเวลาโครงการฯ 14 ปี2
2.1.6 ประมาณการรายได้ คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.4 ล้านบาท ในปีที่ 1 (2565) และเพิ่มเป็น 1,030.3 ล้านบาท ในปีที่ 14 และมีรายได้รวมจำนวน 12,438.1 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี           โดยมีราคาในการให้บริการในปีที่ 1 เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (เล็ก)        120,000 บาท/แห่ง/เดือน สถานศึกษาขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ 120,000 144,000 180,000 บาท/แห่ง/เดือน ซึ่งเป็นไปตามราคาตลาดและราคาในปีต่อ ๆ ไป และจะลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
2.1.7 กรอบวงเงินลงทุน มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,705.6 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระบบโครงข่ายหลัก (Core Network) สถานีฐานเทคโนโลยี 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4,364.3 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษา และซ่อมบำรุง โครงข่าย จำนวน 1,741.3 ล้านบาท
2.1.8 แหล่งที่มาเงินลงทุน เงินรายได้ของ บมจ. โทรคมนาคมฯ
2.1.9 ผลตอบแทนทางการเงิน โครงการฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนทางการเงิน (กรณีฐาน: Base Case) ดังนี้
- มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return : FIRR)     อยู่ที่ร้อยละ 28.71
- มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ณ อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 5.9 [เท่ากับต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของเงินทุน (Weighted Average Cost of Capital : WACC)] อยู่ที่ 2,902.32 ล้านบาท
- มีระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) 6 ปี 6 เดือน
2.1.10 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ - มีอัตราผลตอบแทนทางการเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 16
- มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 12 อยู่ที่ 350 ล้านบาท
- มีมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added : EVA) เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 263 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า 0 (EVA>0) กล่าวคือโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ย
2.1.11 การวิเคราะห์ความไว จากการวิเคราะห์ความไว (Sensitivity Analysis) ของโครงการฯ พบว่า กรณีที่มีจำนวนผู้ใช้งานน้อยกว่ากรณีฐานร้อยละ 50 โครงการฯ ยังมีความคุ้มค่าในการลงทุน แม้ว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 2,902.32 ล้านบาท เป็น 928.39 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ร้อยละ 17.58
2.1.12 ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินขององค์กร หน่วย : ล้านบาท
รายการ ปี
2566 2567 2568 2569 2570 2571 2572
รายได้รวม 98,974 98,198 76,230 44,998 45,036 46,310 47,941
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 102,065 99,091 76,424 47,268 46,154 45,718 42,683
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ (4,117) (1,755) (914) (2,835) (1,553) 223 4,026
EBITDA 10,872 13,576 14,054 11,507 12,291 13,453 17,460
EBIT 175 2,536 788 (2,835) (1,553) 279 5,032
จากการประมาณการฐานะทางการเงินของ บมจ. โทรคมนาคมฯ ระหว่างปี 2566 – 2572 ภายใต้สมมติฐานการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงโครงการฯ พบว่า บมจ. โทรคมนาคมฯ จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนระหว่างปี 2566 – 2570 โดยรายได้จะลดลงตั้งแต่ปี 2569 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz จะหมดอายุลง อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการฯ จะช่วยเพิ่มรายได้ของ บมจ. โทรคมนาคมฯ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) ของ บมจ. โทรคมนาคมฯ มีแนวโน้มดีขึ้น จากติดลบร้อยละ 1.2 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2572
2.1.13 ประโยชน์ที่ได้รับ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการดิจิทัล ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การพัฒนาเมืองอัจริยะ (Smart City) การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) การพัฒนาแรงงานดิจิทัล (Digital Skills/Digital Workforce) และการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor and Economic Trading Area) เป็นต้น
(2) 5G สามารถต่อยอดการพัฒนาด้านการศึกษา การแพทย์และเทคโนโลยีเสมือนจริง
(3) เพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการใช้บริการ 5G

 
_____________________
1 เทคโนโลยี 5G มีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
  (1) Enhanced Mobile Broadband (eMBB) : เน้นความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงมาก
  (2) Massive Machine Type Communication (mMTC) : เน้นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมาก
  (3) Ultra-Reliable Low-Latency Communication (URLLC) : เน้นการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีความเสถียรมากและความหน่วงสัญญาณต่ำมาก
2 เนื่องจากใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเลขที่ FREQ/TEL/005 (26 GHz) จะสิ้นสุด ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2578 ทำให้ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ปัจจุบันจะเหลือเพียง 13 ปี (ระหว่างปี 2566 – 2578)
 
11. เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติเสนอดังนี้
                   1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2)
                   2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2 ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   เนื่องจากแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงาน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2) ขึ้น โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2 จะก่อให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ    นำความมั่นคงทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ เป็นความเชื่อมโยงของการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่พัฒนาขึ้นมาจากจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 10 ประเด็น โดยเริ่มจากต้นน้ำ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป้าหมาย คือ วัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการทางการตลาดโดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสู่การพัฒนากระบวนการต้นน้ำมากขึ้น ลดการพึ่งพาธรรมชาติ กลางน้ำ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป้าหมาย คือ เน้นการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อยรวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศและมุ่งเป้าพัฒนาสารสกัดเพื่อลดการนำเข้าและทำให้ประเทศสามารถเติบโตเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสมุนไพรได้อย่างแท้จริง ปลายน้ำ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป้าหมาย คือ การขยายขอบเขตการรับรู้คุณค่าของสมุนไพรผ่านอาหารและวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากประเทศไทยด้วยตราสัญลักษณ์คุณภาพ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเหมาะสม เป้าหมาย คือ ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสมุนไพรเป้าหมายประสบความสำเร็จทางการตลาด  ซึ่งการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าจะสำเร็จได้จำเป็นต้องคำนึงถึงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินการ  ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป้าหมาย คือ การนำงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกต่อยอดและสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมสมุนไพร   โดยมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระดับชุมชนด้วยสมุนไพร  ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ   (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 ด้วยแล้ว
 
12. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อทำเหมืองแร่ ของบริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ที่จังหวัดชัยนาท
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการขอผ่อนผันให้บริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C)เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอประทานบัตรที่ 3/2561 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 17 มีนาคม 2535 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
หมายเหตุ : *พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม หมายถึง พื้นที่ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ที่มีศักยภาพแหล่งแร่ที่รัฐมีข้อผูกพันเป็นประทานบัตรแล้วรวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม      (รายงาน EIA)
พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เพื่อรักษาไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์อย่างแท้จริงหากภายหลังสำรวจพบว่ามีป่าธรรมชาติในพื้นที่ถูกบุกรุกทำลาย ให้ปลูกป่าทดแทนโดยเร็วจึงไม่ให้ใช้ประโยชน์และไม่มีการกำหนดมาตรการให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้บริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีเอ็ม และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน      เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 17 มีนาคม 2535 และวันที่       21 กุมภาพันธ์ 2538 (การต่ออายุการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมหากอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในเขตพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่ 1 และในเขตพื้นที่หวงห้ามอื่น ๆ ให้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป) โดยคำขอประทานบัตรที่ขอผ่อนผันในครั้งนี้เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมซึ่งประทานบัตรหมดอายุเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564 อยู่ที่ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 292 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา โดย อก. แจ้งว่า นายรังสรรค์ ตันตระกูล ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรเดิมมีหุ้นส่วนในบริษัท รุ่งเรืองผลศิลา จำกัด และในการเปลี่ยนผู้ถือประทานบัตรทำได้ โดยผู้ถือประทานบัตรเดิมให้ความยินยอมก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตรใหม่
                   2. พื้นที่ที่ อก. ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์ในครั้งนี้มีลักษณะ ดังนี้

ลักษณะพื้นที่
1) การขออนุญาตใช้พื้นที่ ได้มีการยื่นขออนุญาตทำประโยชน์บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติแล้ว
2) อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 (แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดให้พื้นที่เขตแหล่งแร่ คือพื้นที่เขตแหล่งแร่ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ทั้งหมด)
3) ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ
4) ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านที่เกี่ยวข้องกับคำขอประทานบัตร (สภาเทศบาลตำบลวังตะเคียนได้เห็นชอบการขอประทานบัตรด้วยแล้ว)
5) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA)
6) เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้การผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 สำหรับการทำเหมืองแร่และเพื่อการต่อยอดอายุประทานบัตรทำเหมืองแร่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้
          6.1) จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดิมที่มีการทำเหมืองมาก่อน ซึ่งคำขอประทานบัตรนี้เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งหมด
          6.2) จะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ อก. แจ้งว่า หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้มีความต้องการใช้หินปูนเพื่อการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น
          6.3) จะต้องเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าและความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น อก. แจ้งว่า โครงการฯ             มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 276.31 ล้านบาท
          6.4) จะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อก. ขอดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 (การขอทำเหมืองหรือต่ออายุใบอนุญาตทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายไป) และขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 (ให้งดการต่อใบอนุญาตทำเหมืองในพื้นที่ป่าอนุรักษ์)

 
13. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 (เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้ในการกู้เงินแต่ละคราวต้องรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันทำสัญญากู้หรือวันออกพันธบัตรหรือตราสารอื่น) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. กค. ได้ปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปีงบประมาณ          พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1 มีรายละเอียดผลการกู้เงิน ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

วันที่ประมูล วันที่เบิกเงินกู้ อายุ วงเงิน อัตราดอกเบี้ย
(ร้อยละต่อปี)
8 ธันวาคม 2565 19 ธันวาคม 25651 2 ปี 25,000 BIBOR 6M2 -0.03260

                   2. กค. ได้ออกประกาศ กค. เรื่อง ผลการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วยแล้ว3
_____________________
1 ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 แต่เนื่องจากวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ตรงกับวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเลื่อนวันชำระคืนเงินต้นพันธบัตรรัฐบาลเป็นวันทำการถัดไปในวันที่ 19 ธันวาคม 2565
2 BIBOR 6M หมายถึง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ ระยะ 6 เดือน ตามประกาศ ธปท.
3 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ส่งประกาศ กค. ฯ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว         โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
14. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
                       1.1 การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพคนพิการ พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาการใช้บริการ และพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 3.0 มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า
                       1.2 สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน “เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3” สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน พบว่า ประชาชน (ร้อยละ 80.6) ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด       และ (ร้อยละ 3.2) ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด/ไม่ช่วยเลย
                       1.3 การใช้บริการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม     และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ    และน้อยกว่า ร้อยละ 2.0 มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้ารอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น
                       1.4 ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล ดังนี้
                             1.4.1 ประเภทสถานพยาบาล พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชน  ร้อยละ 76.8 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 1.0 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐร้อยละ 70.4 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.6 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด
                             1.4.2 สิทธิการรักษาพยาบาล พบว่า ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตร้อยละ 86.5 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมา คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคมตามลำดับ
                       1.5 สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่มเติม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ประชาชนร้อยละ 93.5) จัดสวัสดิการศูนย์เด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน (ประชาชนร้อยละ 87.6) และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี (ประชาชนร้อยละ 85.9)
                       1.6 การจัดเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 ยินยอมให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า (1) เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง            (2) ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และ (3) ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม และประชาชนร้อยละ 37.5 ไม่ยินยอมให้จัดเก็บโดยให้เหตุผลว่า (1) ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี (2) กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และ (3) ไม่มีหลักเกณฑ์/กฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้
                       1.7 การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 84.2 ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ประชาชนร้อยละ 15.8            ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วยงานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก/อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
                   2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                       2.1 ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งไม่ให้อยู่เพียงลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น การจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นอาสาสมัครร่วมกับเจ้าหน้าที่ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าพี่พัฒนาสังคม     และ อบต./เทศบาลในการช่วยดูแลศูนย์ และให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลกัน
                       2.2 ควรส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการบริการต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง รวมทั้งทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์
                       2.3 ควรสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพของยา การบริการและความสะดวกรวดเร็ว
                       2.4 ควรสนับสนุนให้มีสวัสดิการเรียนฟรีในทุกระดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
                       2.5 ควรส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จัดศูนย์เด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน      และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี
 
15. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เสนอทั้ง 4 ข้อดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุม กพศ. ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 21 ตุลาคม 2565
                   2. เห็นชอบการกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกสำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค โดย
                       2.1 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง (ระเบียงฯ ภาคเหนือ) ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (2) อุตสาหกรรมดิจิทัล (3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และ (4) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
                       2.2 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย (ระเบียงฯ               ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมชีวภาพ                     และ (2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
                       2.3 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี (ระเบียงฯ ภาคกลาง) ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และ (2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
                       2.4 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช (ระเบียงฯ ภาคใต้) ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (2) อุตสาหกรรมชีวภาพ และ (3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
                   3. เห็นชอบข้อเสนอการทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามผลการศึกษาของ สศช.
                   4. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กพศ. ครั้งที่ 2/2565
 
16. เรื่อง แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 - 2570)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 - 2570)  ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
                   สาระสำคัญของแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4
                   แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 มีพัฒนาการที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3           โดยคำนึงถึงปัจจัยความท้าทายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ (Mega Trends)       ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคตให้ตอบสนองเป้าหมายการขับเคลื่อนใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและการจัดสรรเงินทุนภายในประเทศได้อย่างเหมาะสม (Domestic Fund Mobilization) 2) การเติบโตเชิงคุณภาพ (Quality Growth) และการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม 3) การให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตลาดทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (Small and Medium-size Enterprises: SMEs/Startup) และผู้ลงทุนรายย่อยในการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น 4) ตลาดทุนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น อาทิ ตำแหน่งในระดับสากล การเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเพื่อการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้มากขึ้น เป็นต้น 5) การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน      6) ความสอดคล้องกัน (Harmonization) ระหว่างสินทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการสอดประสานและร่วมมือกันของหน่วยงานกำกับดูแล (Cross-Discipline) และ 7) สาธารณชนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย (Public Trustworthiness)
                   1. วิสัยทัศน์และพันธกิจ
                       เพื่อให้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 สามารถพัฒนาภาคตลาดทุนไทยได้อย่างต่อเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 โดยรองรับปัจจัยความท้าทายและโอกาส รวมทั้งตอบสนองเป้าหมายการขับเคลื่อนภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยทั้ง 7 ด้านข้างต้น แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 จึงกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจไว้ ดังนี้
                       1.1 วิสัยทัศน์ : ตลาดทุน (กำลัง 4) เพื่อการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง         1) “สานต่อ” ตลาดทุนให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค 2) “ส่งเสริม” ทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน 3) “สนับสนุน”      ทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ 4) “เสริมสร้าง” ความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน
                       1.2 พันธกิจ : ได้แก่ 1) ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ 2) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน 3) ตลาดทุนดิจิทัล 4) ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน และ 5) ตลาดทุนที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์/เข้าถึงได้
                   2. ยุทธศาสตร์และแผนงานภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4
                       แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 29 แผนงาน         เพื่อรองรับการบรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจข้าง ได้แก่
                       2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน      โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น
                       2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยี   และนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ การจัดตั้ง LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลากหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น
                       2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์  และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น
                       2.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG)
                       2.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being)           เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น
                   3. การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4
                       ภาครัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 อย่างบูรณาการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4    เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สอดรับกับเป้าหมายตามวิสัยทัศน์และพันธกิจจึงได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาของการบรรลุผลลัพธ์เป้าหมายในภาพรวมไว้ดังนี้

กรอบระยะเวลา ผลลัพธ์เป้าหมาย
ปี 2565 - 2566 1. ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งทุนของเศรษฐกิจใหม่
2. ภูมิทัศน์ตลาดทุนไทยที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้
3. กฎหมายและกฎเกณฑ์สำหรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
4. โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
5. ฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนเข้าถึงได้
6. ความปลอดภัยทางไซเบอร์
7. การเชื่อมโยงระหว่างประเทศแลการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้ามประเทศ
8. การขยายฐานผู้ลงทุน ทั้งมิติของความกว้างและความลึก
9. ความรู้ทางการเงิน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับการเกษียณ
10. การคำนึงถึงความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social)     และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นปัจจัยหลักในการระดมทุนและลงทุน
ปี 2567 ตลาดทุนไทยก้าวล้ำในมิติของการเป็นตลาดทุนดิจิทัลและตลาดทุนที่ยั่งยืน การเป็นผู้นำในระดับสากลและสามารถผลักดันให้ประชาชนมีสุขภาพการเงินที่ดี
ปี 2568 - 2570 ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน

                       นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์เป้าหมายข้างต้นได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 จึงได้มีการกำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
 

ยุทธศาสตร์ แนวทางการติดตามและประเมินผล
ยุทธศาสตร์ที่ 1 Competitiveness ติดตามและประเมินผลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. การใช้ดัชนีชี้วัด เช่น การจัดอันดับตาม The Global Competitiveness Index      ที่ประเมินโดย The World Economic Forum
2. การติดตามและประเมินผลความคืบหน้าของการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
3. การมีผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 Accessibility ติดตามและประเมินผลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. การประเมินผลโดยใช้มูลค่าการระดมทุนของกิจการเป้าหมายประเภท SMEs/Startup, New Economy, New S-curve และกิจการที่ใช้หลักเศรษฐกิจแบบ (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
2. การประเมินผลโดยใช้จำนวนบัญชีผู้ลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 Digitalization ติดตามและประเมินผลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. การติดตามและประเมินผลความคืบหน้าของการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
2. การประเมินความสำเร็จของโครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน
3. การประเมินความสำเร็จของฐานข้อมูลและบริการดิจิทัล
4. การประเมินคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนด้าน Cybersecurity
ยุทธศาสตร์ที่ 4 Sustainability ติดตามและประเมินผลในด้านต่าง ๆ เช่น การประเมินผลโดยใช้มูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้าน ESG
ยุทธศาสตร์ที่ 5 Financial well-being ติดตามและประเมินผลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประเมินผลโดยใช้มูลค่าการลงทุนในตลาดทุนเพื่อการเกษียณ

                   4. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4
                       4.1 แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 จะมีบทบาทในการผลักดันยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจริงผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อันจะส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและสมดุล รวมทั้งมีส่วนช่วยรักษาการเติบโตและสร้างการเติบโตรูปแบบใหม่ (New Growth) จากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมความยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่ง (Wealth) ให้แก่ผู้ร่วมตลาด และมีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและภัยคุกคาม
                       4.2 นอกจากนี้ แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และมีความเชื่อมโยงกับแผนของหน่วยงานอื่น ๆ    ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับภาคการเงินและตลาดทุน เช่น 1) ความเชื่อมโยงกับแนวนโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทิศทางของการกำหนดแนวโยบายภาคการเงินไทยในอนาคตที่มุ่งเน้นปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่ให้เกิดความสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม 2) ความเชื่อมโยงกับกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2565 - 2567) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่” ที่มุ่งเน้นเดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคต เชื่อมมิติการลงทุนและมิติความยั่งยืนของภาคธุรกิจและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เป็นต้น
 
17. เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ 17 สาขา
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป
                   สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                   1. การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน
                   2. อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ. 2541          ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551
                   3. อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้มุ่งที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับ ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีการพัฒนาฝีมือแรงงานและมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                   4. ในการจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 3 คณะ เพื่อศึกษาและจัดทำ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ           จำนวน 17 สาขา เสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง และผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติลักษณะการทำงานในแต่ละสาขา การจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงาน และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง  รวมถึงความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กระทรวงแรงงานได้มีการจัดสัมมนาฯ ไปจำนวน 3 รุ่น ๆ ละ 1 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ Application : Zoom Cloud Meetings
                   5. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ในการประชุมครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565      ได้พิจารณา (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 17 สาขา ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะเสนอ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง ระดับ 1 จาก 550 บาทต่อวัน เป็น 555 บาทต่อวัน ตามที่กรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอ และที่ประชุมได้มีมติกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สรุปได้ดังนี้
                             (1) เห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 17 สาขา ดังนี้
                                      หน่วย : บาท/วัน

กลุ่มสาขาอาชีพ/ สาขา ระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3
สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ
1. ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง 495    
2. ช่างระบบปั๊มและวาล์ว 515    
3. ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก 500    
4. ช่างปรับ 500    
5. ผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ 520    
6. ช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 545 635 715
สาขาอาชีพช่างเครื่องกล
1. สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร 465 535 620
2. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง 585    
3. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด 570    
4. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง 555    
5. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก 520    
สาขาอาชีพภาคบริการ
1. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) 500 600  
2. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) 500 600  
3. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) 500 600  
4. พนักงานผสมเครื่องดื่ม 475 525 600
5. การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 530    
6. ช่างเครื่องช่วยคนพิการ 520 600  

                  
                             (2) เห็นชอบวันที่ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลใช้บังคับ คือ เก้าสิบวันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 

ต่างประเทศ

18. เรื่อง ร่างเอกสารที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบต่อร่างเอกสาร จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 26 (2) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 22 (3) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – สาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ 10 (4) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 2 และ (5) ร่างแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน – สาธารณรัฐอินเดีย ปี พ.ศ. 2566 – 2570
                   2. อนุมัติให้นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 26           และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Minister) ของไทย และร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ดังกล่าว โดยไม่มีการลงนาม
                   สาระสำคัญ
                   1. ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 26 มีเนื้อหาสะท้อนเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 – 2569 (ASEAN Tourism Strategic Plan 2016 – 2025) โดยการประชาสัมพันธ์รูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย การดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่น ในการเดินทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน การจัดทำผลการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ และการมอบรางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยว        ที่รับผิดชอบ ยั่งยืน และครอบคลุม ผ่านการจัดทำผลการศึกษาเพื่อพัฒนากรอบการดำเนินงานของอาเซียนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การพัฒนาเครือข่ายระเบียงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล
                   2. ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ครั้งที่ 22 มีเนื้อหาส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มประเทศภาคี ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านการจัดกิจกรรม เพื่อสนับสนุน    และยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การทำการตลาดการท่องเที่ยว และการเสริมสร้างบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม   เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 – 2568 (ASEAN Tourism Strategic Plan     2016 – 2025) แผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2568     (APT Tourism Work Plan 2021 – 2025) โดยอาศัยกลไกการดำเนินงานของศูนย์อาเซียน-จีน ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น      และศูนย์อาเซียน-เกาหลี
                    3. ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 10 มีเนื้อหาสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ในการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือต่อผลกระทบของวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ต่อภาคการท่องเที่ยวในทุกมิติรวมถึงกำหนดทิศทาง ในการดำเนินงานตามแผนงานด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย ปี พ.ศ. 2564 – 2565 (ASEAN-India Tourism Work Plan 2021-2022) เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ    และยั่งยืน การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติการท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว การสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) กิจกรรมทางการตลาด เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 – 2568 (The ASEAN Tourism Strategic Plan : ATSP 2016 – 2025)      และกลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2564 – 2568 (The ASEAN Tourism Marketing Strategy 2021 – 2025) แผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการท่องเที่ยวอาเซียน กรอบอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยการปฏิรูปการท่องเที่ยวอาเซียน
                   4. ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 2    มีเนื้อหาสะท้อนเจตนารมณ์ในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ผ่านการส่งเสริมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว การยกระดับความพยายามของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนท้องถิ่น
                   5. ร่างแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน – สาธารณรัฐอินเดีย ปี พ.ศ. 2566 -2570 ประกอบด้วย 7 กิจกรรมหลักภายใต้แผนฯ ได้แก่ (1) การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม   (2) การส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการท่องเที่ยว (3) ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว (4) การลงทุนด้านการท่องเที่ยว (5) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว (6) การท่องเที่ยวและ   การเชื่อมโยง และ (7) การประชาสัมพันธ์และการตลาด
 
19. เรื่อง การขยายอายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายอายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและ  ความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 (บันทึกความเข้าใจฯ) และการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือตอบฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างหนังสือตอบฝ่ายไทยในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
          1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 (Memorandum of Understanding on the Implementation of Non-Tariff Measures on Essential Goods under the Hanoi Plan of Action on Strengthening ASEAN Economic Cooperation and Supply Chain Connectivity in Response to the COVID-19 Pandemic) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือ    ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน โดยระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ
                   2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 กันยายน 2564) เห็นชอบร่างบัญชีรายการสินค้าจำเป็นในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เพื่อขยายรายการสินค้าเพิ่มเติมในบัญชีแนบท้ายบันทึกความเข้าใจฯ จำนวน 107 รายการ อาทิ สัตว์น้ำ พืชผัก อาหารแปรรูป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ให้ขยายรายการสินค้าจำเป็นแนบท้ายบันทึกความเข้าใจฯ ที่ประเทศสมาชิกจะไม่ริเริ่มหรือคงมาตรการที่มิใช่ภาษีที่จำกัดการค้าต่อสินค้าจำเป็นเท่าที่จะทำได้ไปยังสินค้าเกษตรและอาหารพื้นฐานอย่างน้อย 100 รายการ โดยไม่ได้มีการแก้ไขสาระของบันทึกความเข้าใจฯ   (ทำให้ปัจจุบันมีบัญชีรายการสินค้าจำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ จำนวน 259 รายการ)
                   3. ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 28 เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ได้เห็นชอบในหลักการให้ขยายอายุบันทึกความเข้าใจฯ เพิ่มอีก 2 ปี เพื่อให้มีผลถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 (จากเดิม เดือนพฤศจิกายน 2565) และให้ร่วมกันพิจารณาขยายรายการสินค้าจำเป็นเพิ่มเติม
                   4. ประเทศสมาชิกอาเซียนได้พิจารณาสินค้าที่อาจจัดเป็นรายการสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมแล้วส่งรายการสินค้าให้สำนักเลขาธิการอาเซียนรวบรวม เพื่อพิจารณารายการสินค้าที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศเห็นตรงกันว่าสามารถกำหนดเพิ่มในบัญชีรายการสินค้าจำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ได้ โดยในส่วนของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้สอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ        เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 จนได้ข้อสรุปในการจัดทำสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมอีกจำนวน 106 รายการ ต่อมาสำนักเลขาธิการอาเซียนได้พิจารณาสินค้าที่สมาชิกอาเซียนเห็นตรงกันทั้ง 10 ประเทศ จนได้ข้อสรุปบัญชีรายการสินค้าจำเป็นเพิ่มเติม จำนวน 92 รายการ อาทิ สินค้าปลา พืชผัก แป้งข้าว ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องจักรบางรายการ
                    5. กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขยายอายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 (บันทึกความเข้าใจฯ) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 256 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2567 รวมทั้งเห็นชอบการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (Essential Goods) ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เพิ่มเติมอีก 92 รายการ ส่งผลให้มีรายการสินค้าจำเป็นรวมทั้งสิ้น 351 รายการ โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน โดยประเทศสมาชิกจะไม่ริเริ่มหรือคงมาตรการที่มิใช่ภาษีที่จำกัดการค้าต่อสินค้าจำเป็นเท่าที่จะทำได้ และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีในสินค้าจำเป็นทั้งหมดที่ไม่เป็นไปตามความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ในขอบเขตที่เป็นไปได้ เพื่อให้สินค้าจำเป็น (Essential Goods) ซึ่งประกอบด้วย อาหาร ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างราบรื่นในห่วงโซ่อุปทาน โดยบันทึกความเข้าใจฯ    ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีผลให้เกิดข้อพิพาททางการค้า และไม่ขึ้นกับกลไกการระงับข้อพิพาทใด ๆ ทั้งนี้ การขยายอายุบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้จะดำเนินการโดยใช้หนังสือแลกเปลี่ยนที่จัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นมีหนังสือตอบกลับเพื่อยอมรับการขยายอายุและการแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ
                   ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างหนังสือตอบกลับของฝ่ายไทยเพื่อยอมรับการขยายอายุและแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อเสนอในหนังสือแลกเปลี่ยนของประธานอาเซียน ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
20. เรื่อง ร่างเอกสารที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 7 ฉบับ (1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล (Memorandum of Understanding between the Governments of the Member States of the Association of Southest Asian Nations and the International Telecommunication Union in the Field of Digital Cooperation) (2) ร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ (Boracay Digital Declaration) (3) ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (Guide to ASEAN Model Contractual Clauses and EU Standard Contractual Clauses for International Data Transfers (4) ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (ASEAN AI Landscape Study Report) (5) ร่างกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (Framework for Promoting the Growth of Digital Startups in ASEAN) (6) ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (Policy Recommendation: Framework for Promoting the Growth of Digital Startups in ASEAN) และ  (7) ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง  (The 3rd  ASEAN Digital Ministers’ Meeting and Related Meetings Joint Media Statement) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ดศ. ดำเนินการได้โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ)
                   3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ และให้ความเห็นชอบร่างเอกสารจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
                             1) ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนฯ)
                             2) ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ฯ)
                             3) ร่างกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (ร่างกรอบการดำเนินงานวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลฯ)
                             4) ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ)
                             5) ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 3 (The 3rd  ASEAN Digital Ministers Meeting หรือ ADGMIN ครั้งที่ 3) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (ร่างแถลงข่าวร่วมฯ)
[มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 (The 3rd  ASEAN Digital Ministers Meeting หรือ ADGMIN)            และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6 - 10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์]
                   สาระสำคัญ
                   ที่ประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ได้เห็นชอบเอกสารที่จะมีการลงนามรับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน   ด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้
                   1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศภายใต้ขอบเขตความร่วมมือด้านดิจิทัล โดยมีขอบเขตของความร่วมมือด้านดิจิทัล จำนวน 11 ด้าน เช่น (1) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความมั่นคงด้านดิจิทัล   (2) ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลและระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงและศักยภาพของอินเทอร์เน็ต  บรอดแบนด์ (3) ความเท่าเทียมทั่วถึงทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความรู้ทางดิจิทัลและการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล   (4) นโยบายโทรคมนาคมและดิจิทัลของอาเซียน ฯลฯ
                   2. ร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ เป็นเอกสารที่มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 และเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และครั้งที่ 41 ในการผลักดันการเป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนในการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัลและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล      เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง รวมถึงส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอย่างเท่าเทียม
                   3. ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนฯ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้น       เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจที่ดำเนินงานทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรปสามารถเข้าใจถึงความเหมือน   และความแตกต่างกันระหว่างข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการโอนย้ายข้อมูล ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติร่วมดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอาเซียนและสหภาพยุโรปตามความเหมาะสม   และช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของข้อสัญญาได้ง่ายยิ่งขึ้น
                   4. รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ฯ เป็นเอกสารผลการศึกษายุทธศาสตร์ ข้อริเริ่ม   และกรอบธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงกรอบธรรมภิบาลด้านเอไอของประเทศอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและแนวทางในการจัดทำกรอบธรรมภิบาล       ด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับอาเซียน
                   5. ร่างกรอบการดำเนินงานวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากรอบ           การดำเนินงานของระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียนและการปรับใช้กรอบ        การดำเนินงานภายหลังเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในประเทศสมาชิก
                   6. ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย :กรอบการดำเนินงานวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลฯ เป็นเอกสารที่ระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในแต่ละมิติ (ตามเสาหลักของกรอบการดำเนินงาน 6เสาหลัก) สำหรับแต่ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนาและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลอย่างมีกลยุทธ์
                   7. ร่างแถลงข่าวร่วมฯ เป็นเอกสารที่ระบุถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการข้อมูล และการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนในอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมนวัตกรรมและ       การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ความก้าวหน้าด้านการพัฒนา 5G และการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล รวมถึงยินดีต่อความพยายามจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ของอาเชียน (ASEAN Regional CERT) และการส่งเสริมมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน ค.ศ. 2021 - 2025
 
21. ขออนุมัติเป็นหลักการให้จ่ายเงินสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของ ERIA  ในช่วงปี 2564 - 2569 จำนวน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่สำนักงบประมาณให้ความเห็น สำหรับการจ่ายเงินสนับสนุนในงวดถัดไป เห็นควรที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะได้พิจารณาผลการดำเนินงาน ความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการตามแผนปี 2564 - 2569 ก่อนดำเนินการสนับสนุนงบประมาณให้กับ ERIA ต่อไป
                   สาระสำคัญ
                   สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เป็นหน่วยงานด้านการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศษฐกิจในอาเซียน และให้ข้อเสนอแนะต่ออาเซียนเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) ผ่านผลงานวิจัยต่าง ๆ โดย ERIA    มีสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก 6 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ได้มีการจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่ ERIA ไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อปี 2555 โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก 6 ประเทศ         ให้การสนับสนุนเงินในจำนวนที่แตกต่างกันตามความสมัครใจ ส่วนประเทศสมาชิกอาเชียน 10 ประเทศ            รวมถึงประเทศไทยให้เงินสนับสนุนเท่ากันคือ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แจ้งข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่ผ่านมา ERIA จะไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยหรือการออกแบบนโยบายให้กับประเทศไทยโดยตรง          แต่ผลงานวิจัยของ ERIA หลายเรื่องที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลในการจัดทำกรอบความตกลงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งผลสำเร็จในการจัดทำความตกลง RCEP ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจและมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้น
 
22. เรื่อง ผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 14th IMT-GT Summit)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอทั้ง 2 ข้อดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย [The 14th IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) Summit]      เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
                   2. เห็นชอบการมอบหมายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตามแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สศช. รายงานว่า
                   1. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT เมื่อวันที่           10 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความก้าวหน้า            ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของแผนงาน IMT-GT สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                             1.1 ความคืบหน้าโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) มีมูลค่าการลงทุนกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) โดยประเทศไทย  มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและมีความคืบหน้า เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส-เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส - เมืองเปิงกาลันกุโบร์ รัฐกลันตัน โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่   จังหวัดสงขลา - ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมโยงหาดใหญ่ - สะเดา และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโยงหาดใหญ่ - ปะดังเบซาร์
                             1.2 ความคืบหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เช่น (1) การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้จัดตั้งเมืองยาง จำนวน 3 เมือง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีจังหวัดสงขลาเข้าร่วมโครงการ (2) การดำเนินโครงการด้านการท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชาวมุสลิมและการจัดทำ  ชุดเครื่องมือพัฒนาแผนการสื่อสารการตลาดท่องเที่ยว (3) การส่งเสริมการแปรรูปปาล์มน้ำมันในเขตเศรษฐกิจพิเศษ     (4) การเสริมสร้างศักยภาพและทักษะทางวิชาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน (5) การเสริมสร้างศักยภาพ             ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและการลงทะเบียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล และ (6) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development Framework: SUDF) ของแผนงาน IMT-GT
                             1.3 ผู้นำแผนงาน IMT-GT ได้ร่วมกันรับรอง IB 2022 - 2026 ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 และเห็นชอบการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี              แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 และกิจกรรมต่าง ๆ ในปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566 - 2568 (IMT-GT Visit Year 2023 - 2025) โดยได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงานเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ IMT-GT ให้กลับคืนสู่ปกติ
                   2. ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมอื่น ๆ

ผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุม ความเห็นและข้อเสนอแนะ
นายกรัฐมนตรีไทย (1) เร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 รวมทั้ง จัดกิจกรรม    เชิงสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในช่วง IMT-GT Visit Year 2023 - 2025 เพื่อสนับสนุนให้     อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
(2) เร่งรัดการพัฒนา PCPs เพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก
(3) เร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้ MoU โครงการเมืองยางพาราและ       ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
(4) พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดรับกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ เช่น พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย
(5) เสริมสร้างความเข้มแขงของสภาธุรกิจ IMT-GT เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
(6) สนับสนุนการเชื่อมโยงแผนงาน IMT-GT กับแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งในการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าระหว่างสินค้า                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                     ทางการเกษตร อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (1) การฟื้นฟูการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคและการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีฮาลาล
(2) การเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น ท่าเรือ สนามบิน และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทของเครือข่ายมหาวิทยาลัย UNINET* ในการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมและพัฒนาทุนมนุษย์ในอนุภูมิภาค
(3) การสร้างอนุภูมิภาคที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดผ่านการลงทุนและการสร้างงานในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเร่งดำเนินการตามกรอบการพัฒนาเมืองสีเขียว พ.ศ. 2562 - 2579 ซึ่งจะส่งผลให้แผนงาน IMT-GT เป็นแกนกลางความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินโดแปซิฟิก
ผู้แทนพิเศษของ
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
- เสนอให้ประเทศสมาชิก IMT-GT มุ่งมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมใน           อนุภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสอดรับกับช่วง IMT-GT Visit Year 2023 - 2025
ข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ได้แก่
(1) การรับมือประเด็นเร่งด่วนของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
(2) การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา และการผลักดันให้ทุกภาคส่วนริเริ่มโครงการที่ให้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติ      ได้ทันที
(3) การส่งเสริมกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของอนุภูมิภาค เช่น สนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนผ่านสภาธุรกิจร่วม IMT-GT และสนับสนุนให้ IMT-GT ทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สอดรับกับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน
(4) ร่วมกันดำเนินงานในสาขาที่สำคัญ เช่น สาขาภาคการผลิตและการเกษตรและเร่งหารือในเรื่องความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ
เลขาธิการอาเซียน เน้นย้ำประเด็นที่สำคัญต่อการดำเนินการตาม IB 2022 - 2026 ประกอบด้วย
(1) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน
(2) รับรองการเชื่อมโยงระหว่างกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของอาเซียนและเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน และการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
(3) ผลักดันการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)           โดยมุ่งหวังให้การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแน่นแฟ้นขึ้นผ่านการเสริมสร้างความเข้าใจตามความตกลง RCEP แก่ทุกภาคส่วนในอนุภูมิภาคและกลไกของสภาธุรกิจร่วม IMT-GT
ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (1) สนับสนุนเงินทุนจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในช่วงปี 2562 - 2573 โดยในส่วนของไทย ธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
(2) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่นนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตและเสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารด้านการท่องเที่ยว

                   3. ที่ประชุมเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT        โดยไม่มีการปรับปรุงสาระเพิ่มเติม และเห็นชอบ IB 2022 - 2026 ซึ่งทั้งเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
                   4. แผนการดำเนินงานในระยะต่อไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแผนงาน IMT-GT สรุปได้ ดังนี้
                             4.1 การลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามแผนงาน IMT-GT โดยมีกำหนดลงนามในปี 2566
                             4.2 การผลักดันโครงการความเชื่อมโยงที่สำคัญของประเทศสมาชิก IMT-GT โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา - ด่าศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย       และการเร่งพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว       รวมทั้งการมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน และการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี
                             4.3 การดำเนินกิจกรรมสำคัญด้านการท่องเที่ยวเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี     แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วง IMT-GT Visit Year 2023 - 2025
                             4.4 อินโดนีเซียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำ แผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 15 ในเดือนพฤษภาคม 2566
                   5. การมอบหมายหน่วยงานดำเนินงานตามผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT สรุปได้ ดังนี้

โครงการ/ประเด็นสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ในภาพรวม เช่น
(1) การขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการภายใต้ IB 2022 - 2026 ไปสู่การปฏิบัติ เช่น
- กระทรวงการคลัง (กค.)
- กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
- กระทรวงคมนาคม (คค.)
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
- กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
- กระทรวงมหาดไทย (มท.)
- สศช.
(2) การส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เช่น
          - ส่งเสริมความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชียในการพัฒนาเมืองน่าอยู่และอัจฉริยะ ส่งเสริมการลงทุนสีเขียว และขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ
          - หารือแนวทางความร่วมมือกับอินเดียในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ใน IMT-GT
(3) เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET)
          - ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและสนับสนุนทุกสาขาภายใต้ IB 2022 - 2026
เช่น
- มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก UNINET
- กค.
- กก.
- อว.
- กษ.
- ดศ.
- มท.
- ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
การขับเคลื่อนประเด็นความร่วมมือรายสาขา เช่น
(1) สาขาการท่องเที่ยว
          - พัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว
          - เร่งสร้างรายได้การท่องเที่ยวใน IMT-GT
          - ผลักดันให้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวมีความครอบคลุมและความยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น
เช่น
- กต.
- กก.
- คค.
- ดศ.
- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)
(2) สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
          - ขยายผลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป
          - มุ่งเน้นการเกษตรยั่งยืนและการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าที่โดดเด่น เช่น ยางพาราและน้ำมันปาล์ม และการยกระดับห่วงโซ่อุปทานอาหารข้ามพรมแดน
เช่น
- กษ.
- มท.
- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
- สศช.
(3) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
          - พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการยกระดับแรงงานในอุตสาหกรรมฮาลาล
          - ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานฮาลาล การปรับใช้เทคโนโลยีและการขยายธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตร
          - พัฒนาคุณภาพและทักษะผู้ประกอบการฮาลาลขนาดกลางและขนาดย่อมและบุคลากร โดยร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศ
เช่น
- กษ.
- อว.
- สธ.
- อก.
(4) สาขาการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง
          - ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการภายใต้ PCPs ให้เกิดการลงทุนในโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
          - พัฒนาเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้งหมด
เช่น
- กค.
- คค.
- ดศ.
- อก.
(5) สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล
          - จัดตั้งสาขาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
          - ผลักดันการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ IMT-GT
          - ผลักดันการเสริมสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัลและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอนุภูมิภาค
          - สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและมีทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
เช่น
- ดศ.
- พณ.
(6) คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน
          - เตรียมการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองและการกักกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามแผนงาน IMT-GT
          - การพัฒนาและความร่วมมือด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษใน IMT-GT
เช่น
- กค.
- กษ.
- ดศ.
- พณ.
- อก.
- สศช.
- ตช.
(7) สาขาสิ่งแวดล้อมและสภาเมืองสีเขียว
          - พัฒนาโครงการภายใต้สาขาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียวและโครงการตามแผนการลงทุนตามกรอบ SUDF ซึ่งมีความสอดคล้องกับ BCG Model
          - แสวงหาความช่วยเหลือที่ไม่ใช่การเงินจากหุ้นส่วนการพัฒนา ได้แก่ ด้านกฎระเบียบ และการยกระดับศักยภาพบุคลากร
เช่น
- ทส.
- มท.

________________________________________________________
*IMT-GT UNIVERSITY NETWORK: UNINET คือสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการศึกษา วิจัย และวิเคราะห์นโยบายภายใต้แผนงาน IMT-GT โดยไทยมี 5 มหาวิทยาลัย ที่เป็นสมาชิก UNINET ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
 
23. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 14 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ครั้งที่ 14 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy for Border Areas: JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 และมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามตารางติดตามผลการประชุม JC ครั้งที่ 14 และการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซียตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กต. รายงานว่า
                   1. เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย (ดาโตะ ซรี ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์) ในการประชุม JC ครั้งที่ 14 และการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย” เพื่อสะท้อนถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์และเพิ่มพูนความร่วมมือในการส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของทั้งสองประเทศ โดยที่ประชุมมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ 3P ประกอบด้วย การปกป้องคุ้มครองประชาชน (Protection) การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) และการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็น สาระสำคัญ/ผลการประชุมฯ
(1) ความร่วมมือด้านความมั่นคง มุ่งกระชับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนส่งสินค้าและข้ามแดนผิดกฎหมาย การก่อการร้าย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข่าวกรองเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ และรับทราบว่าฝ่ายมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง (Joint Working Committee on Security Cooperation: JWC-SC) ครั้งที่ 1 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในเดือนตุลาคม 25651
(2) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เร่งรัดการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ 3 ในโอกาสแรกเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ ตามที่ฝ่ายมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทย
- เห็นพ้องที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจที่คั่งค้างในโอกาสแรกเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับร่างบันทึกความเข้าใจและกระบวนการภายในของแต่ละประเทศเสร็จสิ้นแล้ว เช่น บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน และความร่วมมือด้านศุลกากร
- ให้คณะทำงานของคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงและบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างชายแดน
- ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงเมืองยางพาราในรัฐเกดะห์กับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยและเสริมสร้างเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยางพารามร่วมมือด้านความมันคง่าวกรองเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรเทข้องตามตารางติดตามผลการประชุม
(3) การพัฒนาความเชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ปี 2565-2569 ซึ่งเป็นการวางกรอบแนวทางการพัฒนาโดยยึดหลัก 3Es คือ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยง (Enhancing the Connectivity) (2) การเพิ่มขีดความสามารถในกรแข่งขันมนุษย์ (Enriching the Human Capital) และ (3) การพัฒนาทุนมนุษย์ (Enriching the Human Capital) และเห็นควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว โดยให้จัดลำดับความสำคัญของโครงการและกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน
เร่งรัดให้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดกรอบระยะเวลาของการดำเนินโครงการให้มีความชัดเจน เช่น
   (1) การสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม ได้มีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคร่วมไทย-มาเลเซีย (Expert Working Group: EWG) ครั้งที่ 1      เมื่อเดือนเมษายน 2565 และมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม EWG ครั้งที่ 2        ในเดือนธันวาคม 2565
   (2) โครงการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 มีความคืบหน้าโดยฝ่ายไทยได้สำรวจสภาพดินและภูมิประเทศให้แก่ฝ่ายมาเลเซียโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบสะพาน นอกจากนี้ ฝ่ายมาเลเซียอยู่ระหว่างพิจารณาร่างแบบสะพานตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์ ซึ่งฝ่ายไทยส่งให้ฝ่ายมาเลเซียพิจารณาตั้งแต่ปี 2559       โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือรายละเอียดต่อไป
   (3) ความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส ฝ่ายมาเลเซียรับทราบข้อเสนอของไทยที่จะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส ซึ่งฝ่ายมาเลเซียจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับฝ่ายไทยต่อไป
   (4) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว
(4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เห็นควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ซึ่งสถาบันฝึกอาชีพ GIATMARA ของมาเลเซียพร้อมจะดำเนินการฝึกอบรมทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และฝ่ายไทยพร้อมจะดำเนินการฝึกอบรมด้านการเกษตรและการบริหาร
(5) ความร่วมมือด้านการเกษตรและประมง เร่งรัดให้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งฝ่ายมาเลเซียย้ำว่าควรเป็นกรอบความร่วมมือแบบองค์รวมทั้งด้านการเพาะปลูก ปศุสัตว์ ประมง รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัยที่เกี่ยวข้อง
(6) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายแสดงความสนใจที่จะกระชับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมรวมถึงการจัดทำกรอบความร่วมือด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ฝ่ายมาเลเซียขอให้ไทยพิจารณาร่วมกับฝ่ายมาเลเซียเสนอให้เสื้อ Kebaya ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในปี 2566 เพื่อขึ้นทะเบียนในปี 2567 โดยมาเลเซียจะขอรับการสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
(7) ความร่วมมือในสาขาใหม่ เห็นชอบให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ และรับมือกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

                   2. เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม JC ครั้งที่ 14 และการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย (ดาโตะ ซรี ไซฟุดดินฯ) ได้ร่วมรับรองบันทึกการประชุมของการประชุม JC ครั้งที่ 14 และบันทึกการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ทั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในบันทึกการประชุมของการประชุม JC ครั้งที่ 14 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้      (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 สิงหาคม 2565) ในประเด็นความร่วมมือด้านเขตแดนอุตสาหกรรมแฟรนไซส์ การก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 และความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะล่าสุดของความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย
                   3. การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น สาระสำคัญ/ผลการหารือฯ
(1) การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี - นายกรัฐมนตรียินดีทีได้มีการนำผลการหรือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไปดำเนินการแล้ว เช่น การเปิดพรมแดนและการรับรองเอกสารการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัลจึงขอให้ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน
- นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการประชุมประจำปีระดับนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสให้ผู้นำรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเร่งรัดติดตามผลตามมติที่ประชุม JC และ JDS และความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างกันต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย (ดาโตะ ซรี ไซฟุดดินฯ) เสนอจะร่วมมือกับไทยในด้านการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนนภาคใต้ (จชต.) และชื่นชมการยกระดับการศึกษาใน จชต. ของไทยซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา รวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพ และการแลกเปลี่ยนด้านการข่าวเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกันต่อไป
-ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดนให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกา ยูฮิตัม และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ทั้ง 2 แห่ง
- นายกรัฐมนตรีย้ำความตั้งใจของไทยในการแก้ไขปัญหาใน จชต. โดยสันติวิธีและขอให้ใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมความมั่นคงชายแดน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย (ดาโตะ ซรี ไซฟุดดินฯ) ยืนยันท่าทีที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขใน จชต. อย่างเต็มที่ และว่ารัฐบาลมาเลเซียเห็นชอบให้ต่อวาระการทำงานของหัวหน้าคณะผู้อำนวยการความสะดวกในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ของไทยจากมาเลเซีย (ตัน สรี อับดุล ราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์) จนถึงเดือนสิงหาคม 2566
(2) การหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ      (นายดอนฯ) - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) เสนอให้ทั้งสองประเทศพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน (Cross-Border Economic Zone) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนได้รับประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น โดยอาจจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาและหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกันต่อไป
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงที่สำคัญ เช่น การสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส และการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-กรุงกัวลาลัมเปอร์
- ฝ่ายมาเลเซียเสนอให้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพเยาวชนใน จชต. ผ่านกลไก Malaysian Technical Cooperation Programme (MTCP) โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์จะศึกษาต่อ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ และเห็นควรสนับสนุนให้องค์กรศาสนาของทั้งสองประเทศประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนด้านการข่าวระหว่างกันเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง

                   4. กต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุม JC ครั้งที่ 14 และการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น

ประเด็น การดำเนินการที่สำคัญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. การเมืองและความมั่นคง
1.1 การจัดการความมั่นคงชายแดน การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ยกระดับความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบยาเสพติดและสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการบริหารจัดการบุคคลสองสัญชาติ กระทรวงกลาโหม (กห.)
กต. กระทรวงมหาดไทย
(มท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)
1.2 การต่อต้านการค้ามนุษย์ เร่งรัดการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
1.3 เขตแดนทางบก ขับเคลื่อนการสร้างและบำรุงรักษารั้วเดี่ยวที่บริเวณชายแดนด่านนอก-บูกิตกายูฮิตัม โดยคำนึงถึงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-ด่านบูกิตกายูฮิตัมด้วย กห. (กรมแผนที่ทหาร)
และ กต.
2. เศรษฐกิจ
2.1 เป้าหมายทางการค้า เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
2.2 อุตสาหกรรมแฟรนไชส์ หารือความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ พณ.
2.3 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ติดตามผลการพิจารณาของฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้สามารถลงนามร่วมกันได้ในโอกาสแรก กระทรวงคมนาคม (คค.)
2.4 ความร่วมมือด้านยางพารา* หารือกับฝ่ายมาเลเซียเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการจัดทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยเมืองยางพารา จังหวัดสงขลา กับเมืองยางพารา โกตาปุตราระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ Tradewinds Plantation Berhad ของมาเลเซีย กระทรวงเกษตร          และสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (กนอ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)
3. การพัฒนาความเชื่อมโยงชายแดน
3.1 การก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม* เร่งรัดการออกแบบและการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม รวมถึงการจัดตั้งจุดตรวจร่วมที่ด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม กระทรวงการคลัง      (กรมศุลกากร) คค.     (กรมทางหลวง) มท.
สศช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
3.2 การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง* เร่งรัดการออกแบบและการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง กับสะพานตากใบ- เปิงกาลันกุโบร์ คค. (กรมทางหลวง)
และ สศช.
3.3 โครการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส* ประสานงานกับฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้มีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส รวมถึงติดตามการมอบหมายจุดความสนใจของฝ่ายมาเลเซียในเรื่องนี้ กต. คค. (กรมทางหลวง) และ สศช.
3.4 การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กทม.-กรุงกัวลาลัมเปอร์* กำหนดวันการประชุมคณะทำงานร่วมเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่าง กทม.-กรุงกัวลาลัมเปอร์ คค.
4. ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
การส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรมกันและกัน พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายมาเลเซียที่ให้ไทยร่วมกับฝ่ายมาเลเซียเสนอให้เสื้อ Kebaya ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายใต้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติในปี 2566 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
5. ด้านวิชาการ/การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาทักษาอาชีพ* หารือแนวทางการพัฒนาทักษะให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามทีสถาบันฝึกอาชีพ GIATMARA ได้แสดงความพร้อมจะจัดโครงการฝึกอบรมในด้านนี้ ส่วนฝ่ายไทยอาจเสนอโครงการฝึกอบรม Training of Trainers ด้านการซ่อมบำรุงเครื่องจักรทางการเกษตรและธุรกิจด้านบริการ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการแลกเปลี่ยนนักศึกษา กต. และ ศอ.บต.
6. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมอกควัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันผ่านกลไกคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนงานว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามแดนด้วยวิธีปฏิบัติ
 
 
กระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. ความร่วมมือสาขาใหม่
เศรษฐกิจดิจิทัล - ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การจับคู่ทางธุรกิจ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงการต่อยอดความร่วมมือจากบริการชำระเงินต่างประเทศผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (Cross-border QR Payment Linkage)
- พัฒนากรอบแนวทางยุทธศาสตร์ในการเตรียมพร้อมและรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) พณ. สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หมายเหตุ (*) คือประเด็นหรือโครงการที่มีการหารือในการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
_____________________
1 จัดการประชุมแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565
 
 
24. เรื่อง ผลการประชุมระดับสูงในห้วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุมระดับสูงในห้วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2565
                   2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้า           รวมถึงดำเนินภารกิจเพื่อต่อยอดการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ของไทยต่อไปตามตารางติดตามผลการดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] และตารางติดตามผลการดำเนินงานตามผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29
                   3. มอบหมายคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นกลไกหลักในการผลักดันการขับเคลื่อน ประเมินผล และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ภายในประเทศอย่างบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วนและทุกคน (whole-of-society partnerships) โดยอาศัยกลไกจตุภาคีของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กต. รายงานว่า
                   1. เมื่อวันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2565 ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ได้จัดการประชุมระดับสูงในห้วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย (1) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 (2) การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษ และ (3) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)” โดยสามารถผลักดันประเด็นสำคัญ     3 ประการ ได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน (2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะ    การเดินทางและการท่องเที่ยว และ (3) การผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดหลัก สรุปได้ ดังนี้

 การประชุม สาระสำคัญ/ผลการประชุมฯ
(1) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค
ครั้งที่ 33 (เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565)
รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วม แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) การประชุมเต็มคณะ หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน” (2) การหารือในช่วงอาหารกลางวัน หัวข้อ “การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในภูมิภาค” และ (3) การประชุมเต็มคณะ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” โดยที่ประชุมสนับสนุนประเด็นสำคัญในการ     เป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย การฟื้นฟูการเดินทางที่ปลอดภัย การปรับโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือกับแรงกระแทกในอนาคต รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจ BCG
(2) การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษ
(เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565)
นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส      และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร             และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมในฐานะแขกพิเศษ แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่               (1) การหารืออย่างไม่เป็นทางการ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” และ (2) การหารือในช่วงอาหารกลางวัน หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตเงินเฟ้อ” โดยที่ประชุมเห็นพ้องและสนับสนุนการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างเอเปคกับมิตรนอกเอเปคในประเด็นความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การปฏิรูปกฎระเบียบ          โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการเติบโตอย่างครอบคลุมรวมถึงธุรกิจรายย่อย การเสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรี และการเพิ่มพูนทักษะทางดิจิทัล
(3) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (เมื่อวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2565) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้นำจาก 14 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนของผู้นำจาก     6 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ (1) การประชุมรูปแบบ Retreat ช่วงที่ 1 หัวข้อ “การเจริญเติบโต ที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” และ (2) การประชุมรูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” โดยที่ประชุมย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การทำการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และการเงินและการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

                   2. เอกสารผลลัพธ์ ในระหว่างการเจรจาในห้วงสัปดาห์ผู้นำได้มีการปรับแก้ถ้อยคำเพื่อให้เอกสารผลลัพธ์ จำนวน 3 ฉบับได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากทุกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพเอเปค โดยการปรับแก้ดังกล่าวไม่ขัดกับผลประโยชน์ของไทยและเป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 พฤศจิกายน  2565) ดังนี้
                             2.1 ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรีในการร่วมกันสร้างประชาคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040*          ของเอเปค และสะท้อนประเด็นสำคัญจากคณะทำงานของเอเปคในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ด้านที่ไทยผลักดันในฐานะเจ้าภาพเอเปค ได้แก่ การทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) การฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ       และการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG
                             2.2 ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคฯ
                             2.3 เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสูงสุดในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดยได้รับการรับรองในระดับผู้นำเป็นแผนขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของเอเปค         ในระยะยาวอย่างบูรณาการฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการกับความท้าทาย                ด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลักดันการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดขยะ        และของเสีย โดยมีการเปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org เพื่อเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่อง BCG ในกรอบเอเปคสำหรับผู้สนใจศึกษา
                             ทั้งนี้ การเจรจาเอกสารผลลัพธ์ทั้งสามฉบับจนบรรลุฉันทามติถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนให้เอเปคเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไม่หยุดชะงักท่ามกลางสถานการณ์โลก  ที่ท้าทาย โดยเฉพาะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในส่วนเป้าหมายกรุงเทพฯ นั้น เขตเศรษฐกิจสมาชิกต่างชื่นชมความสามารถและความเป็นผู้นำของไทยในการหารือกับเขตเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องและหาถ้อยคำที่เชื่อมท่าทีที่แตกต่างจนทำให้สมาชิกทุกเขตเศรษฐกิจยอมรับร่วมกันได้ นอกจากนี้ สำหรับถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคฯ และปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคฯ ไทยได้ใช้ประโยชน์จากพัฒนาการเชิงบวกในกระบวนการเจรจาเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 โดยอ้างอิงถ้อยคำเรื่องสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จากปฏิญญาบาหลี ของผู้นำกลุ่ม 20 (ซึ่งได้รับการรับรองก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค) จนทำให้สามารถบรรลุฉันทามติได้ในที่สุด
                   3. ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอื่น ๆ ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 และการดำเนินการต่อไปเพื่อต่อยอดการเป็นเจ้าภาพ สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น สาระสำคัญ
(1) FTAAP - ไทยริเริ่มการทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP ในบริบทหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) และบรรลุการจัดทำแผนงานขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องหลายปีในเรื่องดังกล่าว (ค.ศ. 2023 - 2026) ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) ของเอเปค
- สำหรับการดำเนินการต่อไป ไทยจะร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวและติดตามผลผ่าน CTI และรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคทุกปี และในปลายปี 2569 CTI จะทบทวนรายละเอียดและกรอบเวลาของแผนงานดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ หน่วยสนับสนุนด้านนโยบายของเอเปคจะประเมินความคืบหน้าการดำเนินการเรื่อง FTAAP ทุก ๆ สองปี
(2) การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ ไทยสามารถผลักดันการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในเรื่องดังกล่าวและบรรลุข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรมหลายประการเพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมระเบียบและข้อจำกัดการเดินทางในเอเปค การจัดทำหลักการเพื่อส่งเสริมการยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน การเสนอให้เอเปคมีกลไกการทำงานเพื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคน และการผลักดันการออกบัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมนักธุรกิจรายย่อยมากขึ้น และไทยจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อออกบัตร ABTC ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้เอเปคสานต่องานด้านการเดินทางที่ปลอดภัยในปี 2566 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพต่อไป
(3) เป้าหมายกรุงเทพฯ การขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) ในกรอบเอเปคไทยจะร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยเน้นการผลักดันในสาขาต่าง ๆ ผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของเอเปค และร่วมกับสหรัฐฯ จัดทำเกณฑ์การพิจารณาคำของบประมาณเพื่อจัดทำโครงการของเอเปค ประจำปี 2566 (ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) โดยสอดแทรกแนวคิด BCG ในเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของปี 2566 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ “สร้างอนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน” โดยประเด็นความยั่งยืนจะเป็นประเด็นหลักที่สหรัฐฯ จะผลักดันด้วย บนพื้นฐานของเป้าหมายกรุงเทพฯ และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และเป็นประเด็นที่ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และ     (2) ภายในประเทศไทยจะขับเคลื่อนการดำเนินการผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน/ธุรกิจ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMEs) ภาควิชาการ เยาวชน สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย พร้อมประเมินผลและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากกลไกที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่แล้ว โดย กต. เห็นว่าคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นกลไกที่เหมาะสม
- รางวัล BCG ของเอเปค ไทยได้ริเริ่มโครงการนี้เพื่อยกย่องบุคคลหรือองค์กรที่นำแนวคิด BCG ไปปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จและสามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นต่อไป โดยแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภท คือ สตรี เยาวชน และ MSMEs และได้เปิดตัวรางวัลดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ที่ผ่านมา โดยมีแคนาดาและจีนร่วมเป็นผู้เสนอโครงการด้วย ซึ่งได้ประกาศจะสนับสนุนงบประมาณโครงการเขตเศรษฐกิจละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่ง กต. เห็นว่าไทยในฐานะผู้ริเริ่มโครงการควรสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการทุกปี ปีละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยและเขตเศรษฐกิจสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะเริ่มกระบวนการสรรหาและคัดเลือก เพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะรางวัลทั้ง 3 สาขา ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 34 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก

                   4. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น

ประเด็น การดำเนินการที่สำคัญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
(1) ภาพรวม - ไทยต้องดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ให้เกิดความคืบหน้าภายในประเทศ โดยภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชน วิชาการ เยาวชน สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย
- ไทยต้องติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากกลไกคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model
ทุกหน่วยงาน
 
 
 
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(2) การสนับสนุนความพยายามระดับโลกในการรับมือกับทุกความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนความพยายามระดับโลกในเรื่องดังกล่าว เช่น วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ความตกลงปารีส และคำมั่นของเขตเศรษฐกิจในการลดการปล่อยก๊าซสุทธิให้เหลือศูนย์ และการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนทางเทคนิคและการเงิน
ผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานและความมั่นคงทางพลังงาน
กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
 
กระทรวงพลังงาน (พน.)
(3) การสร้างความคืบหน้าด้านการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยให้สอดรับและส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกการค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม โดยสานต่อการหารือที่เกี่ยวข้องและรายการสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมของเอเปค รวมถึงหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษีต่อการค้าสินค้าสิ่งแวดล้อม
เสริมสร้างบทบาทของ MSMEs ผ่านการสนับสนุนการปรับปรุงยุทธศาสตร์เพื่อ MSMEs สีเขียวของเอเปคให้ทันสมัย
กค. (กรมศุลกากร) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
 
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

                   5. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 และผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น

ประเด็น การดำเนินการที่สำคัญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
เปิดกว้าง (Open.) เช่น
(1) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน - ส่งเสริมนโยบายการค้าและเศรษฐกิจที่สมดุลและครอบคลุม และสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ครอบคลุมและคาดการณ์ได้
- ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานให้ทำงานต่อไปไม่หยุดชะงัก มีความมั่นคง และยืดหยุ่น
กค. (กรมศุลกากร) ทส. พณ. (กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายในและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)
(2) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับวาระ FTAAP เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ทส. พน. พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ สสว.
(3) การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายและการเข้าถึงอาหาร ตลอดจนสินค้าและบริการที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19
สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร เช่น ปฏิญญาว่าด้วยการตอบสนองฉุกเฉินเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหาร และข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยการยกเว้นการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกที่จัดซื้อโดยโครงการอาหารโลก
เช่น พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าภายใน) กระทรวงสาธารณสุข และ อก.
 
กษ. และ พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
เชื่อมโยง (Connect.) เช่น
(4) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ผลักดันวาระความเชื่อมโยงของเอเปค และดำเนินการตามแผนแม่บทความเชื่อมโยงเอเปค เพื่อมุ่งสู่เอเชีย-แปซิฟิกที่เชื่อมโยงรอบด้านอย่างไร้รอยต่อและมีบูรณาการ
ผลักดันการพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ
เช่น กค. กต. กระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
(5) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล - เร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค
นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพิธีการผ่านแดนการพัฒนาและการปรับใช้มาตรการอำนวยความสะดวกการค้าแบบไร้กระดาษ รวมถึงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการยอมรับเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
เช่น กค. (กรมศุลกากร) ดศ. พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) และธนาคารแห่งประเทศไทย
สมดุล (Balance.) เช่น
(6) การรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ ความร่วมมือ และการเติบโต ที่สนับสนุนความพยายามของโลกในการรับมือกับทุกความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทส.
(7) การปฏิรูปทางโครงสร้าง ดำเนินการตามการยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) ต่อไป โดยส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการรายเขตเศรษฐกิจ
เตรียมการจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปคปี 2566 เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน
เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สศช. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(8) การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน - คงความพยายามในการขจัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดการบริโภคที่สิ้นเปลืองต่อไปอย่างเร่งด่วน
- ร่วมมือสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทส. พน. พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) และ สกท.
(9) การส่งเสริม MSMEs - ผลักดัน MSMEs ไปสู่ระดับโลกและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน งพลังงานอย่างยั่งยืนที่ลดการปล่อยกองการเปลี่ยนแปลงสภาพถวัลให้แก่ผ
- ปรับปรุงยุทธศาสตร์เอเปคสำหรับ MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม
สสว.
(10) การเสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรี - ดำเนินการตามผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ และผลักดันความเท่าเทียมและความครอบคลุมทางเพศสภาพในภูมิภาค
- ใช้ประโยชน์จากแนวคิดเศรษฐกิจ BCG การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเพื่อสร้างลู่ทางการประกอบอาชีพเพิ่มเติมสำหรับสตรี
พม. (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) และ สสว.
(11) การส่งเสริมศักยภาพให้กับกลุ่ม    อื่น ๆ ที่มีศัยภาพทางเศรษฐกิจแต่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย - ลดอุปสรรคที่มีอยู่และส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเงินของกลุ่มอื่น ๆ ที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการปลดปล่อย เช่น ชนพื้นเมืองดั้งเดิมตามที่เหมาะสม คนพิการ และชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและชนบท
- ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการวาระการส่งเสริมความครอบคลุมทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม ของเอเปคอย่างต่อเนื่อง
พม. (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)

_____________________________________
* คือ เอกสารกำหนดทิศทางของเอเปคต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้าโดยมีเป้าหมายโบกอร์ (เป้าหมายเพื่อการค้าและการลงทุน ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วในปี ค.ศ. 2022) เป็นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข ภายในปี ค.ศ. 2040 เพื่อความรุ่งเรืองของประชากรเอเปคและเยาวชนรุ่นหลัง ประกอบด้วย (1) การค้าและการลงทุน (2) นวัตกรรมและดิจิทัล            และ (3) การเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม
 

แต่งตั้ง

 
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายเอกพล พูลพิพัฒน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต รัฐคูเวต เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมจะดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
                   1. นายพิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ                             ประธานกรรมการ
                   2. นายธีระชัย บุญอารีย์                               กรรมการผู้แทนชุมชน
                   3. นางประเสริฐศรี มังกรศักดิ์สิทธิ์                     กรรมการผู้แทนชุมชน
                   4. นายศักดา เนติพัฒน์                                 กรรมการผู้แทนชุมชน
                   5. นางวชิราวรรณ อิทธิถาวร                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   6. นายประเวศ อรรถศุภผล                           กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   7. นางสาวสุนทรรี สุภาสงวน                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
         
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ดังนี้
                   1. นายบวรเวท รุ่งรุจี
                   2. ศาสตราจารย์กิตติคุณศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์
                   3. รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก
                   4. รองศาสตราจารย์ยงธนิศร์ พิมลเสถียร
                   5. ศาสตราจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์
                   6. นายกิติพันธ์ พานสุวรรณ
                   7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พีรศรี โพวาทอง
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายชูเกียรติ      พงศ์ศิริวรรณ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 28/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ         ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มกราคม 2566  โดยเป็นการยกเลิกข้อ 2.1.2 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 309/2565 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฯ ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ  ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด [เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (6 ธันวาคม 2565) รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 309/2565ฯ] แต่โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 4 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป) กำหนดให้มี “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” ซึ่งมิได้กำหนดให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นกรรมการ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) เป็น กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด


https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/64402