สาระน่ารู้
สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 15 กรกฎาคม 2568
วันนี้ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ-สังคม |
2. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575)
3. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ
4. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2568
5. เรื่อง ปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
6. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025
7. เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา
ต่างประเทศ |
8. เรื่อง ขออนุมัติท่าที่ไทยสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย - สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
แต่งตั้ง |
9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
10. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
11. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
13. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
*****************************
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
1. เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (4 กุมภาพันธ์ 2568)
1.1 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ตามที่ กค. เสนอ และให้ส่ง สคก. ตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนโดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
1.2 รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ กค. เสนอ
1.3 ให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่จะได้รับของการจัดตั้งศูนย์กลางการประกอบ ธุรกิจทางการเงินขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สศช. ธปท. และ ตลท. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
2. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
2.1 สคก. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ตามข้อ 1.1 เสร็จแล้วประกอบด้วยบททั่วไป หมวด 1 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หมวด 3 ผู้อำนวยการ หมวด 4 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย หมวด 5 การส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 มาตรการปรับเป็นพินัย หมวด 9 โทษทางอาญา และบทเฉพาะกาล จำนวน 94 มาตรา (เดิม 96 มาตรา) รวมทั้งกำหนดบัญชีท้ายอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
เหตุผล |
1. บททั่วไป (ร่างมาตรา 1 – 4) |
• วันใช้บังคับ แก้ไขระยะเวลาใช้บังคับหมวด 4 – หมวด 6 เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน (เดิม 360 วัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2) |
- ระยะเวลา 180 วัน เป็นระยะเวลา ที่เหมาะสมและไม่นานจนเกินไป |
2. หมวด 1 คณะกรรมการ |
• แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยตัดเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาออก และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานจำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ (ร่างมาตรา 5) |
- เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง |
3. หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (ร่างมาตรา 13 – 25) |
• กำหนดเพิ่มเติมให้สำนักงานฯ จะต้องคำนึงถึงการรักษาและป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ โดยมีหน้าที่และอำนาจจัดทำร่างนโยบาย แผนการดำเนินงาน และมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณา (ร่างมาตรา 15) |
|
4. หมวด 3 ผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 26 – 34) |
• แก้ไขผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการ เป็น |
|
5. หมวด 4 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 35 – 50) |
• แก้ไขให้การประกาศกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายของคณะกรรมการฯ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (เดิมกำหนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ เท่านั้น) และในกรณีที่การกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นให้คณะกรรมการฯ หารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องนั้นก่อนด้วย (ร่างมาตรา 35) |
- เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการอนุมัติกำหนดประเภท และขอบเขตของการอนุญาต |
6. หมวด 5 การส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ |
• แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ |
- เพื่อให้ครอบคลุมตลอดการประกอบธุรกิจและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเรื่องการป้องกันการฟอกเงินของ The Financial Action Task Force (FATF) |
7. หมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 57-71) |
• การประกอบธุรกิจเป้าหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการสำคัญว่าจะต้องเป็นการให้บริการเฉพาะผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ |
- คำว่า “ผู้มีถิ่นที่อยู่ในลักษณะอื่น” อาจหมายถึง “คนไทย” ได้ ซึ่งการให้บริการแก่คนไทยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและเกิดปัญหากับระบบการเงินในภาพรวมได้ |
8. หมวด 7 พนักงาน |
• มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีอำนาจ 1) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สิน รวมทั้งสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูล 2) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี และ 3) สั่งให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub มาให้ถ้อยคำส่งสำเนา หรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ |
|
9. หมวด 8 มาตรการ |
• ตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญาซึ่งมีองค์ประกอบความผิดเหมือนหรือคล้ายคลึงกับความผิดที่ได้กำหนดไว้แล้วในภาคความผิดของประมวลกฎหมายอาญา |
|
10. บทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 90-94) |
• มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยยังคงกำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็นและให้คณะกรรมการฯ โดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนโดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน โดยให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการและจัดตั้งสำนักงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด |
|
11. อัตราค่าธรรมเนียม |
• มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยยังคงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้ |
|
2.2 สคก. ได้แจ้งให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวงและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน คปภ. และ ธปท. มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... และเสนอมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว
2.3 กค. (สำนักงานปลัดกระทรวงและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) สำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยแล้ว ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นและข้อสังเกต ต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นการป้องกันไม่ให้การประกอบธุรกิจใน Financial Hub กระทบต่อระบบเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยต้องกำหนดหลักการและแนวทางบริหารความเสี่ยงที่สำคัญเหล่านี้ไว้ในพระราชบัญญัติฯ เช่น ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้บริการแก่คนในประเทศ เป็นต้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความเห็นและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมาพิจารณาในชั้นการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ตามข้อ 2.1 สำหรับประเด็นการเตรียมหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้พร้อมก่อนอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจใน Financial Hub เนื่องจากในระยะเริ่มต้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินจะมีภารกิจในการยกร่างกฎหมายลำดับรองและกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท จึงควรมีการจัดตั้งและเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และการวางระบบประสานงานกับผู้กำกับดูแลหลัก โดยการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายควรเริ่มดำเนินการเมื่อมีความพร้อม เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ
เศรษฐกิจ-สังคม |
2. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (ร่างแผนแม่บทฯ) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) และมอบหมายให้สำนักงาน สภช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) สู่การปฏิบัติ ตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560 - 2564 และดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว ต่อมา สภช. ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) ซึ่งได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนของประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แล้ว [ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ]
ทั้งนี้ สภช. ได้เสนอร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ต่อมานายกรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีบัญชามอบให้ สภช. นำความเห็นและข้อเสนอแนะของ กษ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาทบทวนร่างแผนแม่บทฯ ก่อนนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ สภช. ได้ปรับปรุงร่างแผนแม่บทฯ ตามความเห็นของ กษ. และ สศช. รวมทั้งนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย และให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. ร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์ เกษตรกรเป็นพลังสำคัญในการผลักดันต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
2.2 พันธกิจ ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคงและพอเพียงของเกษตรกรไทย
(1) พัฒนาความสามารถการผลิตของเกษตรกรไทย สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
(2) เกษตรชาญฉลาดขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมสีเขียว
(3) ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม
(4) ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย
(5) การยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี
2.3 วัตถุประสงค์
(1) เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
(2) เพื่อขับเคลื่อนเกษตรสีเขียวที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(3) เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
2.4 เป้าหมาย
(1) ร้อยละ 75 ของครัวเรือนเกษตรกรมีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (5.78 ล้านครัวเรือน)
(2) มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
(3) อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศสาขาเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี
(4) รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อครัวเรือน ภายในปี 2570
2.5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ |
กลยุทธ์ย่อยในพัฒนา เช่น |
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งของเกษตร |
|
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพเกษตรกร |
- จัดทำฐานข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เช่น การรวบรวมข้อมูล/ คัดกรอง/บันทึกข้อมูลเข้าระบบสารสนเทศ |
กลยุทธ์ที่ 2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต |
- ศึกษาวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้ทางการเกษตร เช่น ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงเกษตร |
กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น |
- พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับชุมชน เช่น รับรองและคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น (จดสิทธิบัตร/สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) |
กลยุทธ์ที่ 4 คุ้มครองสิทธิ์ การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
- การแก้ปัญหาการใช้ที่ดินและสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน เช่น พิสูจน์สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน |
กลยุทธ์ที่ 5 พัฒนาการบริหารกองทุนด้านการเกษตรและเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ |
- พัฒนาระบบกองทุนรวมเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เช่น ศึกษาระบบกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและการพัฒนาเกษตรกรที่มีอยู่หลากหลายกองทุนให้อยู่ในระบบเดียวกันภายใต้ชื่อกองทุนรวมเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและเป็นกองทุนที่มีเอกภาพ |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กษ. (กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์) |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาเกษตรสีเขียว |
|
กลยุทธ์ที่ 6 อนุรักษ์และพัฒนาระบบนิเวศน์ทางการเกษตร |
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนิเวศน์ทางการเกษตรเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น ประกาศพื้นที่เกษตรที่ได้รับการคุ้มครอง |
กลยุทธ์ที่ 7 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำและระบบชลประทาน |
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร (ทั้งในและนอกเขตชลประทาน) เช่น แผนการขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร |
กลยุทธ์ที่ 8 พัฒนาการผลิตสู่พื้นฐานเศรษฐกิจ ที่ยั่งยืนระดับชุมชน |
- ส่งเสริมและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินและการใช้พื้นที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างคุ้มค่า เช่น ส่งเสริมการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตร |
กลยุทธ์ที่ 9 ฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ทางการเกษตร |
- สร้างความเข้าใจในเงื่อนไข ประเด็น และทิศทางกฎระเบียบสากลที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เช่น การถ่ายทอดกฎระเบียบ/เงื่อนไขแก่เกษตรกร |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กษ. (กรมพัฒนาที่ดิน) ทส. (กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) และ มท. (กรมที่ดิน) |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก |
|
กลยุทธ์ที่ 10 สร้างความเป็นธรรมและยกระดับราคาผลผลิต |
- ส่งเสริมการแปรรูปขั้นต้นของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านราคา เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปด้านการเกษตร |
กลยุทธ์ที่ 11 ยกระดับการผลิต การตลาดและขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน |
- ขยายตลาดสินค้าการเกษตรสู่ตลาดโลก เช่น คัดเลือกสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐานและเจรจาเพื่อขยายสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กษ. (กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และ พณ. (กรมการค้าภายใน) |
2.6 แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรและพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายที่เน้นการยกระดับความมั่นคงทางอาหารในประเทศ โดยมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งนโยบายการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนและการกระจายรายได้ การสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรและตลาดได้อย่างเท่าเทียมจะช่วยลดความยากจนและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยังเกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้
(1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ ช่วยเสริมสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การแปรรูปอาหาร การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การส่งออกสินค้า
(2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและในพื้นที่ที่ยังคงพึ่งพาการเกษตรเป็นหลักการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ชนบท เพิ่มการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง
(3) เพิ่มผลผลิตเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดการการเกษตรอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตร ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น
(4) เพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร เสริมสร้างศักยภาพการผลิตและการเข้าถึงตลาด และช่วยให้เกษตรกรมิโอกาสเพิ่มรายได้และลดความยากจนรวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนเกษตร
(5) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การแปรรูปผลผลิตเกษตรและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือการแปรรูปอาหารจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างงานใหม่ ๆ
3. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) เพื่อเป็นรายการค่าซื้อที่ดินค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ (โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ) ภายในกรอบวงเงิน 602.74 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี] ได้เห็นชอบให้กรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางฯ จำนวน 602.74 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายการดังกล่าว (ตามบัญชีค่าทดแทนทรัพย์สินที่มีความ พร้อมจ่าย) ด้วยแล้ว และให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีดีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
ประโยชน์และผลกระทบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน และกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
4. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 81 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
(1) ร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
(2) ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 เพื่อใช้มาตรการต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและประชาชนภายในเขตพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน จนถึงปัจจุบัน เป็นคราวที่ 80
2. เรื่องที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส 9 อำเภอ ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี 5 อำเภอ ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา 3 อำเภอ ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2568 เนื่องจากยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 81 (พื้นที่คงเดิม) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ยุติลงโดยเร็ว รวมทั้งหากไม่มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรง ที่อยู่ในการควบคุมตัวในกระบวนการซักถามของฝ่ายความมั่นคงและที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3. โดยที่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกิน 3 เดือน จึงเข้าข่ายเป็นเรื่องที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
5. เรื่อง ปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง ปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (11 ธันวาคม 2567) อนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 แต่โดยที่ต่อมามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2568 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 (เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี) ทำให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนบูรณาการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้ จึงเห็นสมควรปรับปรุงการมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการให้สอดคล้องกับคำสั่งดังกล่าว ดังนี้
แผนบูรณาการ |
ประธานกรรมการ |
(1) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
นายภูมิธรรม เวชยชัย |
(2) การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด |
|
(3) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว |
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ |
(4) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ |
|
(5) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย |
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค |
(6) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต |
|
(7) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก |
นายพิชัย ชุณหวชิร |
(8) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ |
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง |
(9) รัฐบาลดิจิทัล |
6. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 424,177,200 บาท เพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 7 กันยายน 2568 ณ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่และ กก. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) แจ้งว่าจะต้องชำระเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญ
สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี] ได้เห็นชอบให้ กก. โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 424,177,200 บาท เพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 และให้ กกท. ดำเนินการจัดหารายได้จากการแข่งขันตลอดจนการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดภาระต่องบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงพิจารณากำหนดกลไกในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านให้ครบถ้วนในทุกมิติ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลก ผ่านการถ่ายทอดสดการแข่งขันฯ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนนานาชาติ ให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศในทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเกิดการหมุนเวียนในระบบ
2. ประเทศไทยจะมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางติดตามชมการแข่งขัน มีโอกาสนำเสนอความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทยรวมทั้งมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรกีฬาต่าง ๆ และผู้สังเกตการณ์ 768,300,000 บาท มูลค่าด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั่วโลก จากจำนวนผู้เข้าชมโดยรวมประมาณ 1,300,000,000 คน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,596,500,000 บาท และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยรวมในประเทศประมาณ 2,070,900,000 บาท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 8,435,700,000 บาท
3. แสดงความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา และสร้างชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดกิจกรรมกีฬาและการแข่งขันกีฬาตามแผนยุทธศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2564 – 2570)
7. เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานว่าสถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการทำเหมืองแร่ทองคำและแร่แรร์เอิร์ธของบริษัทเอกชน ที่ไม่ทราบสัญชาติ บริเวณต้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสายในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีการสกัดแร่ด้วยสารเคมีอันตราย ทำให้มีดินและกากแร่ปนเปื้อนโลหะหนัก (สารหนู แคดเมี่ยม ปรอท) ชะล้างลงสู่แม่น้ำสายหลัก และไหลเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย เสื่อมโทรมลงอย่างมากและการได้รับสารหนูสะสมในร่างกายอย่างต่อเนื่องแม้ในปริมาณน้อยจะนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพ เช่น การเกิดโรคผิวหนัง ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะความจำเสื่อม ตลอดจนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาในเด็กและเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกำหนดในสตรีมีครรภ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในลุ่มน้ำกก (แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก) ป้องกันปัญหาขยายตัว สู่ลุ่มน้ำโขงซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1. มาตรการภายในประเทศ เช่น (1) ให้กรมควบคุมมลพิษประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มความถี่ของการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในพื้นที่เสี่ยง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่เหมาะสม (2) ให้กระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคที่อาจเกิดจากโลหะหนัก (โดยเฉพาะสารหนู) ให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (3) ให้การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยเร่งจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย (4) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
2. มาตรการระหว่างประเทศ เช่น (1) ให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อให้ยุติการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษโดยเร็วที่สุด (2) ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
ต่างประเทศ |
8. เรื่อง ขออนุมัติท่าที่ไทยสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย - สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าที่ไทยสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย - สหพันธรัฐรัสเซีย (รัสเซีย) (การประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ) ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีเรื่องความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 2. อันจะเป็นประโยชน์ต่อการ ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไทย (ไทย) กับรัสเซีย ขอให้ผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
(ไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นการดำเนินการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีในระดับสูง เพื่อหารือและสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและประโยชน์ร่วมกัน เช่น การลงทุน เกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน การศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาธารณสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ผลักดันแนวทางการอำนวยความสะดวกและการแก้ไขปัญหา อุปสรรคทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2567 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย โดยมูลค่า การค้ารวมระหว่างไทย - รัสเซีย มีมูลค่า 1,582.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือคิดเป็น 51,328.98 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.59 โดยการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 5 จะเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ผลักดันประเด็นสำคัญ ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ในโอกาสครบรอบ 128 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและรัสเซียในปี 2568 ด้วย
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย (นายวลาดีมีร์ อีลีชอฟ) เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดย พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 และวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เพื่อพิจารณาประเด็นในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 5 ดังกล่าวแล้ว ได้แก่ ประเด็นที่ฝ่ายไทยประสงค์จะผลักดัน ประเด็นที่คาดว่าฝ่ายรัสเซียจะหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่5 และการจัดเตรียมท่าทีไทยสำหรับการหารือ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและรัสเซีย การขยายความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างกัน การขยายความร่วมมือในระดับพหุภาคีและภูมิภาค
แต่งตั้ง |
9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง ว่าที่ร้อยตรี ยงยุทธ ภูมิประเทศ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต (นักวิชาการสรรพสามิตทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
10. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์)
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเดชอิศม์ ขาวทอง)
11. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุชา สะสมทรัพย์)
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายชัยชนะ เดชเดโช)
12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง นายเอกนิติ รมยานนท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
13. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอแต่งตั้ง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
1. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
3. นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้ง นายสมฤกษ์ จึงสมาน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/98434